"สุชาติ" แนะนำให้ "จีดีพี" โต5-6%ควรตั้งกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ3-4%
อดีต รมว.คลัง แนะนำถ้าจะให้ "จีดีพี" โต 5-6% รัฐบาล-แบงก์ชาติ ควรตั้งกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเป็น 3-4% โดยเพิ่มปริมาณเงิน-ลดดอกเบี้ย-ทำให้การลงทุนเพิ่มขึ้น-ค่าเงินบาทอ่อนลงแข่งขันได้ จะดันการส่งออก-ท่องเที่ยว-การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น
เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 67 ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีต รมว.คลัง และผู้เชี่ยวชาญ Macro-econometrics เสนอว่า
(1)หากรัฐบาลต้องการให้ระบบเศรษฐกิจไทยเติบโตสูงขึ้น มีความสามารถในการผลิต (Potential GDP) เป็น 5-6% นั้น อัตราดอกเบี้ย, อัตราเงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยน นับเป็นตัวแปรที่สำคัญ
(2)อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุด หากเทียบ 10 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้ค่าเงินบาทแข็งกว่าเกือบทุกประเทศในโลก เช่น แข็งกว่าสหรัฐ 15%, ญี่ปุ่น 45%, เวียดนาม 44%, มาเลเซีย 25%, อินเดีย 60% และแข็งกว่าจีน, เกาหลี, อินโดนีเซีย และประเทศอื่นๆ ซึ่งทำให้การส่งออกไม่เติบโต, การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) บินไปที่อื่นเพราะเขาซื้อค่าแรงงาน, ค่าไฟฟ้า ได้ถูกกว่า
(3)ค่าเงินบาทแข็งเกินไป เพราะปริมาณเงิน (M2) เพิ่มน้อยไป เนื่องจากดอกเบี้ยที่แท้จริง (ดอกเบี้ยหักเงินเฟ้อ) ของทางการสูงไปในตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้เงินเฟ้อต่ำไป ค่าเงินแข็งไป ทำให้รายได้จากการส่งออกและท่องเที่ยวต่ำไป มีผลให้ความเจริญเติบโตของ GDP ต่ำ ซึ่งไปลดกำลังการผลิต (Capacity utilization rate) และลดความสามารถในการผลิต (Potential GDP) ให้อยู่ในระดับต่ำเพียง 2-3%
(4)ผู้ว่าแบงก์ชาติต้องการให้รัฐบาลไปเพิ่ม Potential GDP โดยตรงเลย โดยให้รัฐบาลเพิ่มโครงสร้างบริการพื้นฐาน (Infrastructure) ให้เอกชนเพิ่มการลงทุนใช้เทคโนโลยีใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาและไม่ง่าย เพราะเครื่องมือเครื่องจักรเกือบทั้งประเทศ ยังใช้ไม่เต็มที่เลย ยังไม่มีเงินกำไรมากพอซื้อเทคโนโลยีใหม่
(5)รัฐบาลต้องการเพิ่มความเจริญเติบโตของ GDP ด้วยการเพิ่มเงินใหม่ โดยโครงการ Digital wallet 500,000 ล้านบาท นอกจากจะติดขัดด้านกฎหมายแล้ว หากแบงก์ชาติไม่ยอมให้ปริมาณเงิน (M2) เพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ก็เท่ากับว่า รัฐบาลไปกู้หรือไปเก็บภาษีมามากขึ้น ในขณะที่ M2 มีเท่าเดิม ซึ่งจะทำให้ปริมาณเงินที่เอกชนและประชาชนใช้อยู่ลดน้อยลง จึงอาจเกิดปัญหาการแย่งเงินกัน (Clouding out effect) ซึ่งจะทำให้ความเจริญเติบโตของ GDP แทบไม่เพิ่มขึ้น โดยยังมีข้อดีคือ เกิดการกระจายรายได้ดีขึ้น
6.ผมขอเสนอให้กระทรวงการคลัง และแบงก์ชาติปรับกรอบเงินเฟ้อจาก 1-3% ในปัจจุบัน เป็น 3-4% และให้แบงก์ชาติรับผิดชอบ(Accountable) โดยดูค่าเฉลี่ยในช่วง 3 เดือนล่าสุด
(7)หากตกลงกันเช่นนี้แล้ว แบงก์ชาติก็ต้องไปเพิ่มปริมาณเงิน (QE), และไปลดดอกเบี้ยทางการ เพื่อให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบ 3-4% ค่าเงินบาทก็จะอ่อนลงแข่งขันได้ดีขึ้น, การส่งออกและท่องเที่ยว, การลงทุน และ FDI ก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งไปเพิ่ม GDP growth มีผลให้การใช้กำลังการผลิต (Capacity utilization) เพิ่มขึ้น มีการซื้อเครื่องมือเครื่องจักรเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งจะไปเพิ่มความสามารถในการผลิต (Potential GDP) ให้สูงขึ้นในระยะยาว
(8)ความจริงประเทศกำลังพัฒนา ควรมีเงินเฟ้อ 3% กว่าๆ เพื่อให้ไปเพิ่มอัตราความเจริญเติบโตของ GDP, เพิ่มการจ้างงาน และเพิ่มค่าแรงงาน ประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่เงินเฟ้อเกิน 3%
ที่มา dailynews
วันที่ 20 พฤษภาคม 2567