"รัฐบาล" อัดยาแรง "กระตุ้นเศรษฐกิจ" ค้ำสินเชื่อ-กู้ขาดดุลฯ-บูมท่องเที่ยว
KEY POINTS
* การประชุมครม.เศรษฐกิจนัดแรกรัฐบาลเศรษฐา เห็นความจำเป็นต้องหามาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หลังจีดีพีปีนี้อาจโตได้แค่ 2.5% ตามการคาดการณ์ของ สศช.
* ชุดมาตรการที่ออกมาจะทยอยเข้า ครม.ภายใน 2 - 3 สัปดาห์ เช่นเพิ่มวงเงินค้ำประกันสินเชื่อปล่อยกู้รายใหม่ 5 หมื่นล้าน หารือ ธปท.ขยับกรอบเงินเฟ้อใหม่ก่อนกำหนด
* ‘เศรษฐา’ เคาะกรอบงบกลางปี 67 วงเงิน 1.22 แสนล้าน โดยกู้เพิ่มอีก 1.12 แสนล้าน ดันหนี้สาธารณะแตะ 68% ชง เข้า ครม.วันนี้
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) อย่างไม่เป็นทางการ โดยการประชุม ครม.เศรษฐกิจ ครั้งนี้ได้ระดมความเห็นเพื่อออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ เพื่อเร่งมาตรการช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและธุรกิจขนาดเล็ก
ขณะที่รัฐมนตรีที่เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ , นายพิชัย ชุณหวชิร รอง
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง , นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
รวมทั้งรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , กระทรวงวัฒนธรรม , กระทรวงอุตสาหกรรม , กระทรวงคมนาคม , กระทรวงการคลัง
รวมทั้งหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) , สำนักงบประมาณ , สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) , สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
นายเศรษฐา กล่าวว่า เรื่องเศรษฐกิจในวันนี้ตามที่เราทราบกันดีว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาต่ำกว่าประมาณการค่อนข้างมาก แต่วันนี้เรายังไม่เรียกภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพราะยังมีเรื่องการท่องเที่ยวที่ยังช่วย แต่ก็ยังเดินหน้าไม่เต็มที่ และที่ผ่านมาตัวเลขเศรษฐกิจไม่ค่อยดีมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง
รวมทั้งปัจจุบันกำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมต่ำมากที่ 57.2% ส่งผลต่อการจ้างงานและการบริโภคเป็นวงจรไป เมื่อผู้บริโภคไม่ซื้อ ไม่มีกำลังซื้อ ผู้ผลิตก็ไม่มีรายได้ จึงต้องหาทางกระตุ้นขึ้นมา โดยที่ประชุมไล่สินค้าทุกตัวว่าเกิดอะไรขึ้นในระอบ 15 ปี ทั้งเกษตร อุตสาหกรรม รถยนต์ อิเลคทรอนิกส์ ท่องเที่ยว การทำพลังงานสีเขียวป้อนธุรกิจสีเขียว
สำหรับภาคการท่องเที่ยวปีนี้เติบโต ในภาคอุตสาหกรรมรายใหญ่พอสู้ไหว กู้เงินได้ แต่รายเล็กเข้าไม่ถึงแหล่งทุน ไม่มีสภาพคล่อง ซึ่งผู้ว่า ธปท.ก็เห็นว่าเศรษฐกิจมีปัญหาเรื่องการปล่อยสินเชื่อและต้องมีมาตรการบางอย่างออกมาในระยะต่อไปซึ่งจะมีการหารือกันอย่างต่อเนื่องโดยมีการประชุม 2 สัปดาห์ครั้ง
ปรับกรอบเงินเฟ้อก่อนกำหนด :
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า มีการหารืออัตราเงินเฟ้อที่ต่ำและการเข้าถึงสินเชื่อของเอสเอ็มอี โดยเงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อที่กำหนดแต่ละปีที่ 1-3% กระทรวงการคลังและ ธปท.เห็นพ้องว่าต้องหารือก่อนระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามปกติที่จะหารือช่วงปลายปี
สำหรับอัตราเงินเฟ้อถือว่ามีประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง ประกอบด้วย
1)กรอบเงินเฟ้อปัจจุบันเหมาะสมหรือไม่ และกรณีที่เงินเฟ้อไม่เป็นไปตามเป้าหมายจะมีเครื่องมือหรือแนวทางอย่างไรให้เงินเฟ้อกลับมาสู่กรอบที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของกระทรวงการคลังและ ธปท.
2)การปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีภาพ ซึ่งปัจจุบันเห็นการหดตัวของสินเชื่อที่ธนาคารปล่อยให้เอสเอ็มอีอย่างรุนแรง ขณะที่รายใหญ่ได้รับสินเชื่อง่าย เพราะฉะนั้นมาตรการที่หารือกันและผู้ว่าการ ธปท.เสนอและเห็นตรงกับมาตรการของกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ จะมีมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) หรือมาตรการ “PGS” ซึ่งเป็นมาตรการ PGS รอบที่ 11 วงเงิน 50,000 ล้านบาท
รวมทั้งการช่วยเหลือของภาครัฐจะทำให้ปัญหาสถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี แต่ส่วนนี้ภาครัฐจะเข้าไปช่วยรับความเสี่ยงให้
“ภาครัฐจะช่วยดูดซับความเสี่ยงส่วนนี้ออกไป ซึ่งจะเสนอ ครม.ใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า พยายามเร่งให้เร็วที่สุด โดยเพิ่มเงื่อนไขต้องปล่อยกู้หรือค้ำประกันสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีรายใหม่ที่ไม่เคยได้รับเงินกู้เป็นอันดับแรกด้วย”
ส่วนงบประมาณจะเร่งรัดการเบิกจ่ายทั้งในส่วนของงบประมาณและงบในการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ขณะที่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐได้รับโจทย์ให้มีการปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนช่วยให้มีการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยมากขึ้น
เพิ่มมาตรการท่องเที่ยวโลว์ซีซั่น :
สำหรับมาตรการภาคการท่องเที่ยวได้หารือว่าต้องเพิ่มการท่องเที่ยวช่วงที่เป็นโลว์ซีซั่นนั้นที่ประชุมมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาไปดึงนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มเติม ซึ่งกระทรวงการคลังเตรียมมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรองซึ่งจะเปิดเผยเงื่อนไขให้ทราบต่อไป
นอกจากนี้ ขอทำความเข้าใจว่าการประชุมครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเชิญรับมนตรีและหน่วยงานเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องมาร่วม แต่ไม่ได้ตั้งเป็นคณะกรรมการคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกรทระวงการคลังเสนอให้ สศช.และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นฝ่ายเลขานุการ
รวมทั้งจะหารือประเด็นขับเคลื่อนงานได้ง่ายขึ้น เพราะมีหน่วยงานด้านเศรษฐกิจอยู่พร้อม มีการโยนโจทย์มาให้ทุกคนทำต่อและจะมีกลไกที่หลายกระทรวงนำไปขับเคลื่อน
“คลัง”เสนออัดมาตรการก่อนเงินดิจิทัล :
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า นายลวรณ แสงสนิทาน ปลัดกระทรวงการคลังเสนอว่า ระหว่างรอมาตรการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ควรคิดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีเพิ่ม โดยแต่ละกระทรวงต้องรับปลับไปและนำมาหารืออีกครั้ง
นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเห็นชอบกรอบการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมปี 2567 วงเงิน 122,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ เป็นการขาดดุลงบประมาณเพิ่ม 112,000 ล้านบาท และจัดเก็บรายได้เพิ่มอีก 10,000 ล้านบาท โดยจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.วันที่ 28 พ.ค.2567
สำหรับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายกลางปีเพิ่มเติมปี 2567 เพื่อดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ตามที่ ครม.เห็นชอบใช้แหล่งเงินในปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 175,000 ล้านบาท ซึ่งการจัดทำงบกลางปีเพื่อให้ดำเนินนโยบายได้ตามเป้าหมาย
รวมทั้งการกู้ขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติม 112,000 ล้านบาท จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีขยับขึ้นอีก 0.14% อยู่ที่ 68% ต่อจีดีพี ซึ่งยังไม่เกินเพดาน 70% ตามสัดส่วนหนี้สาธารณะที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการ สศค.กล่าวว่า รายได้ที่จะจัดเก็บเพิ่มเติมได้อีก 10,000 ล้านบาท เป็นรายได้ใหม่ยังไม่ได้รวมไว้ในประมาณการรายได้เดิม
รายงานข่าวระบุว่าปีงบประมาณรายจ่าย 2567 ตั้งงบประมาณแบบขาดดุลไว้ 693,000 ล้านบาท ซึ่งผลจากการออกงบรายจ่ายเพิ่มเติมที่ต้องมีการกู้เงินเพิ่มขึ้นอีก 112,000 ล้านบาท จะทำให้ปีงบประมารณ 2567 ขาดดุลทั้งสิ้น 805,000 ล้านบาท ส่วนกรอบวงเงินงบประมาณเดิมจะเพิ่มจาก 3.48 ล้านล้านบาท เป็น 3.602 ล้านล้านบาท
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 28 พฤษภาคม 2567