30 พ.ค. วันมันฝรั่งสากล เหตุผลที่ UN ประกาศให้เป็น International Day of Potato
หลายคนยังไม่รู้ว่า นับจากปี 2567 เป็นต้นไป วันที่ 30 พฤษภาคมของทุกปี คือ "วันมันฝรั่งสากล" หรือ International Day of Potato ตามประกาศขององค์การสหประชาชาติ (UN) เรื่องนี้มีความเป็นมาอย่างไร ที่นี่มีคำตอบ
เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ มีมติให้ วันที่ 30 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น "วันมันฝรั่งสากล" หรือ International Day of Potato โดยในปี 2567 นี้จะเป็นปีแรกที่การประกาศดังกล่าวมีผล ดังนั้น วันที่ 30 พ.ค.2567 จึงเป็นวันมันฝรั่งสากลครั้งแรกของโลก
เป้าหมายของ UN ในการประกาศวันมันฝรั่งสากล ก็เพื่อสร้างความตระหนักในคุณค่าทางโภชนาการ พลังงาน สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของมันฝรั่ง และเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ของสหประชาชาติ ซึ่งได้แก่ การขจัดความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการและส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน รวมทั้งยังส่งเสริมโอกาสด้านอาชีพและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต
ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ หรือ The United Nations ระบุว่า มันฝรั่งซึ่งเป็นหนึ่งในห้าพืชอาหารหลักที่บริโภคกันในโลก มีการปลูกมันฝรั่งอยู่ใน 159 ประเทศทั่วโลก โดยมีสายพันธุ์มันฝรั่งที่เพาะปลูกกันอยู่มากถึง 5,000 สายพันธุ์ ซึ่งในหลายประเทศจะมีวันมันฝรั่งแห่งชาติอยู่แล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา เปรู ฯลฯ
ข้อมูลชี้ว่า ประชากร 2 ใน 3 ของโลกบริโภคมันฝรั่ง และภายในปีพ.ศ. 2573 คาดว่า ปริมาณผลผลิตมันฝรั่งทั่วโลกจะมีมากถึง 750 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 112% โดยมีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ในทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้
ทั้งนี้ มันฝรั่งนอกจากจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างความมั่นคงทางอาหารแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตพลังงานชีวภาพ และเป็นพืชที่เป็นมิตรต่อสภาพอากาศด้วย เนื่องจากในการผลิตจะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำเมื่อเทียบกับพืชอื่นๆ
นอกจากนี้ มันฝรั่งเป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงประกอบไปด้วยแร่ธาตุหลากหลายชนิดและมีใยอาหาร จึงเป็นพืชอาหารหลักที่มีความสำคัญและได้รับความนิยมในหลายประเทศ
ต้นกำเนิดของมันฝรั่งนั้น มาจากเขตเทือกเขาแอนดีสในทวีปอเมริกาใต้ ย้อนอดีตไปได้หลายพันปี แต่ต่อมาก็ได้แพร่ขยายไปยังทวีปยุโรปในราวช่วงศตวรรษที่ 16 ก่อนที่จะกลายมาเป็นอาหารที่มีการบริโภคไปทั่วโลก โดยนอกจากจะเป็นพืชที่เปี่ยมด้วยคุณค่าทางโภชนาการดังกล่าวข้างต้นแล้ว ข้อดีเด่นของมันฝรั่งคือสามารถปลูกได้แม้ในพื้นที่ที่สภาวะอากาศไม่เอื้ออำนวย หรือแหล่งน้ำมีจำกัด พื้นที่ทุรกันดาร สภาพอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้ง มันฝรั่งหลากสายพันธุ์ยังมีความทนทานต่อโรคและศัตรูพืชอีกด้วย
ในปีนี้ (2567) ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการเฉลิมฉลองวันมันฝรั่งสากลเป็นครั้งแรก สหประชาชาติได้กำหนดธีมไว้ภายใต้ สโลแกน Harvesting diversity, feeding hope.(เพาะปลูกความหลากหลาย หล่อเลี้ยงความหวัง) มุ่งเน้นคุณูปการของมันฝรั่งที่มีต่อเกษตรกรผู้ปลูก ผู้ผลิต และผู้บริโภค
สำหรับประเทศไทยเรานั้น ข้อมูลจาก บริษัทเป๊ปซี่โคประเทศไทย ผู้ผลิตเลย์ มันฝรั่งทอดกรอบยอดนิยม ซึ่งส่งเสริมการเพาะปลูกมันฝรั่งในประเทศไทยมายาวนานถึง 28 ปี ตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เปิดเผยว่า
ในแต่ละปี “เลย์” ใช้มันฝรั่งประมาณ 1 แสนตันต่อปี ในการผลิตมันฝรั่งทอดกรอบที่จำหน่ายในไทย โดยเป็นผลผลิตในประเทศ 70% สร้างรายได้ให้เกษตรกรมากถึง 1,500 ล้านบาท ทั้งนี้ ภายในปี 2573 บริษัทตั้งเป้าส่งเสริมผลผลิตในประเทศให้ได้ 85% และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอีก 15%
แหล่งปลูกมันฝรั่งที่สำคัญ ตั้งอยู่ใน 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน ตาก เพชรบูรณ์ สกลนคร และนครพนม บนเนื้อที่กว่า 38,000 ไร่ ส่งเสริมงานของเกษตรกรไทยมากกว่า 5,800 คน ผ่านการจัดทำฟาร์มต้นแบบ (model farm) จำนวน 19 แห่ง และได้ร่วมมือกับพันธมิตรและภาครัฐในการส่งเสริมเกษตรกร
บริษัทมุ่งหวังว่าภายในปี 2573 เกษตรกรทั้งหมดที่ทำสัญญากับเป็ปซี่โค ประเทศไทย จะบรรลุการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน ทั้งการจัดการดินและน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน เพื่อสร้างความยั่งยืนทางการเกษตรและรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งของไทย
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 30 พฤษภาคม 2567