ทูตพาณิชย์คุนหมิง เปิดโอกาสเอกชนไทย-สิบสองปันนา จับคู่ธุรกิจดันส่งออก
ทูตพาณิชย์คุนหมิง เดินหน้ากิจกรรมจับคู่ธุรกิจไทย-สิบสองปันนา โอกาสส่งออกสินค้าอาหาร ผลไม้ เครื่องดื่มไทย หลัง “ภูมิธรรม” เยือนช่วงเมษายน 2567 ที่ผ่านมา รู้จัก “สิบสองปันนา” เมืองทางใต้สุดของมณฑลยูนนาน ประเทศจีน
วันที่ 4 มิถุนายน 2567 นายณัฐ วิมลจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ คุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27-29 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์เยือนสิบสองปันนา ประเทศจีน เพื่อหารือในการขยายโอกาสการค้าและกระชับความสัมพันธ์ โดย สคต.คุนหมิง พร้อมผลักดันผลการพูดคุยเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมเร็วที่สุด
โดยการหารือกับเอกชนสิบสองปันนามีจำนวน 8 รายร่วมด้วย ซึ่งมีประเด็นสำคัญ ได้แก่ การนำเข้าผลไม้ (โดยเฉพาะทุเรียน) จากประเทศไทย เพื่อจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของจีน การนำเข้าสินค้าอาหารและเครื่องดื่มจากไทยและส่งออกใบชา กระเทียม และผลไม้จากจีน
การนำเข้าสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากประเทศไทย สร้างความร่วมมือด้านโลจิสติกส์และการจัดเช่า/ใช้บริการของ Warehous สร้างความร่วมมือลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างที่พัก/รีสอร์ตในประเทศไทย สร้างความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศไทยกับสิบสองปันนา รวมถึงกับประเทศที่ 3 ให้เป็น Tourism Hub เป็นต้น
ทั้งนี้ ภายหลังการหารือ สคต.คุนหมิง มีแผนจะดำเนินการเพื่อผลักดันความร่วมมือให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดย
(1) จัดกิจกรรม Business Matching ทั้งในรูปแบบ Offline/Online ระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการสิบสองปันนา เช่น ด้านโลจิสติกส์ ระหว่างบริษัท Yunnan Haicheng Industrial Group Co.,Ltd. กับนิคมอุตสาหรรมอุดรธานี เป็นต้น ด้านการนำเข้าสินค้าผลไม้ สินค้าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้า Otop Premium ของไทย เป็นต้น โดยร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด/หน่วยงานพันธมิตรในการคัดผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ
(2) เชิญผู้ประกอบการจีนเข้าร่วมกิจกรรม/งานแสดงสินค้านานาชาติในประเทศไทย เช่น THAIFEX
ANUGA ASIA, STYLE และกิจกรรมจับคู่เจรจาผลไม้ เป็นต้น
(3) จัดสัมมนาออนไลน์ประจำปี 2567 เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยเห็นโอกาสทางการค้าและ การลงทุน หัวข้อ “สิบสองปันนา : ศักยภาพประตูมังกร”
(4) ประสาน ผลักดันผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยประจำนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน หน่วยงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในกว่างโจว รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของจีนที่เกี่ยวข้อง
5) นโยบายอื่น ๆ ของ สคต. คุนหมิงในการสร้างโอกาสทางการค้าให้ผู้ประกอบการไทย ได้แก่ Cross Border E Commerce (CBEC) การจัดกิจกรรมภายใต้ยุทธศาสตร์เมืองรองที่มีศักยภาพนอกเหนือจากเมืองคุนหมิง เพื่อสร้าง Demand สินค้าไทยทั่วยูนนาน โดยเฉพาะเมืองรองที่ตั้งอยู่บนเส้นทางรถไฟลาว จีน ได้แก่ อวี้ซี ผูเออร์ สิบสองปันนา เป็นต้น
รู้จัก สิบสองปันนา :
เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา เป็นคำภาษาไทยลื้อ มีความหมายว่า “สิบสองเมือง” ตั้งอยู่ทางใต้สุดของมณฑลยูนนาน ประเทศจีน มีเนื้อที่ประมาณ 19,700 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับแขวงหลวงน้ำทา แขวงพงสาลีของประเทศลาว และรัฐฉานของประเทศเมียนมา โดยมีชายแดนยาวถึง 966 กิโลเมตร มีเมืองหลวงคือ เมืองจิ่งหง เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่และมีแม่น้ำโขงไหลผ่าน
ซึ่งในประเทศจีนจะเรียกว่า “แม่น้ำหลานชาง” พื้นที่แห่งนี้มีวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากชาวจีนฮั่น ทั้งประชากร สถาปัตยกรรม ภาษา และวัฒนธรรม มีความคล้ายคลึงกับของชาวไทใหญ่ และชาวไทเป็นอย่างมาก รวมไปถึงชาวไทยและชาวลาว นอกจากนี้ ยังมีชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ เช่น อาข่า อี๋ ลาหู่ เย้า ม้ง ไป๋ เป็นต้น
เขตปกครองตนเองสิบสองปันนามีการแบ่งการปกครองออกเป็น นครหลวง 1 แห่ง ได้แก่ จิ่งหง และอำเภอ 2 แห่ง ได้แก่ อำเภอเหมิงไห่ และอำเภอเหมิงล่า รวมถึงได้รับสิทธิพิเศษให้เป็นเขตที่มีการปกครองตนเองของชนเผ่าไต โดยมีข้อบังคับว่า ผู้ว่าการและรองผู้ว่าการต้องเป็นชาวไทลื้อ ประชาชนในสิบสองปันนานับถือพระพุทธศาสนา ร้อยละ 90 ของประชากร
เขตปกครองตนเองสิบสองปันนามีประชากรจำนวน 1,308,000 คน แบ่งออกเป็นประชากรในเขตเมือง 633,200 คน และในเขตชนบท 674,800 คน นอกจากชาวฮั่น ยังมีประชากรชนกลุ่มน้อยอีก 13 ชนชาติ ได้แก่ ชาวไทลื้อ ฮานี อี๋ ลาหู่ ปู้หล่าง จีนั่ว เย้า ฮุย แม้ว ว้า จ้วง จิ่งโพ เต๋ออ๋าง
ทั้งนี้ ตัวเลขสถิติทางเศรษฐกิจ ไตรมาสแรกของปี 2567 มีมูลค่า GDP เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา 19,400 ล้านหยวน ขยายตัว 6.8% รายได้ที่ใช้ได้จริงเฉลี่ยต่อหัว 28,218 หยวน มูลค่าการค้าปลีก 4,707.73 ล้านหยวน ขยายตัว 3.4% นอกจากนี้ สิบสองปันนายังได้รับความสนใจจากนักลงทุนจีนและประเทศรอบข้าง เนื่องจากมีนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลจีนที่เกี่ยวข้องกับเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา โดยเฉพาะยุทธศาสตร์สำคัญด้วย
อุตสาหกรรมที่มีการลงทุนจากจีนและประเทศรอบข้าง ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมชีวภาพ โดยเฉพาะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระดับสูงช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิตชาผูเอ่อร์ ยางพารา ยาสมุนไพร พลังงานชีวภาพ และ Green Food โดยพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น 2) อุตสากรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 3) อุตสาหกรรมแปรรูป 4) อุตสาหกรรมบำรุงสุขภาพ เป็นต้น
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 4 มิถุนายน 2567