การค้าโลกซมพิษเทรดวอร์ กกร. ทุบเป้าส่งออกไม่ถึง 1% ระส่ำ 1.7 พันโรงงานปิดตัว
การค้าโลกซมพิษเทรดวอร์ กกร. ทุบเป้าส่งออกไม่ถึง 1% ส.อ.ท.ชี้ระส่ำ 1.7 พันโรงงานปิดตัว จับตาผลเลือกตั้งสหรัฐ "ไบเดน" ได้ไปต่อ เร่งชง 3 ข้อเสนอถึงรัฐ พยุงจีดีพีโต 2.7% เท่าเดิม
วันที่ 5 มิถุนายน 2567 นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) พร้อมด้วย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าวกรอบประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567
โดยยังคง GDP ไทย ขยายตัว 2.2-2.7% แต่ได้มีการปรับลด ประมาณการเป้าหมายตัวเลขส่งออกปี 2567 เติบโตเพียง 0.5-1.5% ลดลงจากรอบก่อนหน้าที่เคยประมาณการไว้ว่าจะขยายตัว 2.2-2.7%

เทรดวอร์ทุบ การค้าโลกชะลอตัว :
“สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน มีแนวโน้มกลับมารุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการขึ้นภาษีรอบล่าสุดของสหรัฐ ต่อสินค้ากลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า โซลาร์เซลล์ เซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น โดยมีกำหนดบังคับใช้ภายในปีนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมต่อการค้าโลกชะลอตัวชัดขึ้น ปริมาณการส่งออกของโลกชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ถูกสหรัฐมองว่า จีนใช้เป็นฐานการผลิต” นายผยงกล่าว
นายเกรียงไกรกล่าวเสริมว่า หากต้องการรักษาการเติบโตของตัวเลขส่งออกที่เป้า 0.5-1.0% ให้ได้นั้น จะต้องรักษาการส่งออกไม่ต่ำกว่าเดือนละ 23,964 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนการปรับเป้าลดลงคงต้องทบทวนเป็นเดือนต่อเดือน เพราะต้องจับตาอีกหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต้นทุนโลจิสติกส์จากปัญหาสงครามและการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ส่งผลให้ค่าระวางเรือปรับตัวขึ้นสูง 2 เท่า ปัจจัยสงครามการค้ารอบใหม่ของสหรัฐ-จีน ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพิ่มอัตราภาษีสินค้ายานยนต์ไฟฟ้า โซลาร์เซลล์ และกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ อย่างกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มภาษีจากเดิมที่ 27.5% เป็น 102.5%
และยังต้องจับตาผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ว่าจะเป็นใครระหว่าง โจ ไบเดน หรือ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งหากเป็นทรัมป์ก็มีแนวโน้มที่ภาษีอีวีอาจจะปรับขึ้นเป็น 200% ทำให้จีนก็ต้องเร่งหาตลาดใหม่ ซึ่งอาจจะย้อนกลับมาที่ตลาดเอเชียมากขึ้น หรืออาจขยายฐานการผลิตไปประเทศในภูมิภาคเดียวกับสหรัฐ อาทิ ประเทศเม็กซิโก ตลอดจนขยายฐานการผลิตในประเทศฮังการี เพื่อตั้งเป็นศูนย์กลางการผลิตอีวีของยุโรปโดยเฉพาะ
“อีกปัจจัยที่ทำให้การส่งออกของประเทศไทยลดลง เนื่องจากสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยเป็นสินค้าล้าสมัยและไม่ได้เป็นที่นิยมของตลาดโลกอีกต่อไป อาทิ รถยนต์สันดาป ที่ปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะรถกระบะยอดขายลดลงถึง 42% จนยอดขายแพ้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย และไทยกำลังจะเสียตำแหน่งผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกให้กับประเทศอินโดนีเซีย จากการเข้ามาของอุตสาหกรรมอีวี จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีการปฏิรูปและปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมทั้งประเทศอย่างอย่างจริงจังให้ทันเทรนด์อุตสาหกรรมใหม่ของโลก ซึ่งขณะภาคเอกชนก็ได้เตรียมแผนงานเพื่อปฏิรูปอุตสาหกรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และหวังว่าภาครัฐจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเรื่องกฎหมายและให้เงินทุนสนับสนุนสำหรับการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้”
ระส่ำปิดโรงงาน 1,700 แห่งทั่วไทย :
ขณะนี้พบว่า มีโรงงานปิดตัวแล้วมากกว่า 1,600-1,700 โรงงาน โดยเป็นทั้งโรงงานและสายการผลิต ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการสินค้าลดลง เนื่องจากสินค้าไม่เป็นที่นิยมของตลาด ขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลให้กำลังการบริโภคในประเทศลดลง ประกอบกับปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ซึ่งทาง กกร.กำลังจะทบทวนสมุดปกขาวที่เคยเสนอรัฐบาลเมื่อไตรมาส 4 ปี’66
“การปิดโรงงานมากกว่า 1,600-1,700 แห่ง เกิดขึ้นจากการย้ายฐานการผลิต หรือรวมการผลิตกับส่วนอื่น เรียกว่าเป็นการปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนของแต่ละประเทศ ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทั้งภูมิภาค ซึ่งเป็นการประหยัดเนื่องจากขนาด (Economy of Scale) ขณะที่ยอดการส่งออกและการลงทุนในประเทศ (Foreign Direct Investment) เราก็แพ้ทั้งมาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ดังนั้นตอนนี้เรื่องสำคัญที่สุดคือ การปรับโครงสร้างให้ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมใหม่ เช่น Smart Electronics เป็นการปรับพอร์ตการลงทุนทั้งหมด เพื่อกระตุ้นขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทย ซึ่งขณะนี้ดัชนีอุตสาหกรรมติดลบต่อเนื่องถึง 18 เดือน“ นายเกรียงไกรกล่าว
นอกจากนี้ เสถียรภาพการเมืองยังเป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนอยู่แล้ว เพราะอาจจะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุนที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง อินโดนีเซีย เวียดนาม หรือมาเลเซีย ที่มีเสถียรภาพทางเมืองมากกว่า รวมถึงมีแรงงานที่มีทักษะ และต้นทุนพลังงานที่ถูกกว่า
3 ข้อเสนอเตรียมเสนอรัฐบาล :
อย่างไรก็ตาม กกร.ยังคงรักษาระดับประมาณการตัวเลข GDP ไว้ที่ 2.2 ถึง 2.7% แม้ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า โดยเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1/2567 เติบโต 1.5% ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนจากการหดตัวของการส่งออกและการใช้จ่ายของภาครัฐ ขณะที่ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้จำกัด เนื่องจากการส่งออกฟื้นตัวได้ช้าตามการค้าโลกที่ชะลอตัว และปัญหาเอลนีโญ (ฝนแล้ง) ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ผลผลิตการเกษตรลดลง ส่วนการใช้จ่ายของครัวเรือนได้รับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนในระดับสูง
ซึ่งที่ประชุม กกร.ได้มีการหารือในประเด็นสำคัญเพิ่มเติม ดังนี้
1) กกร.เห็นด้วยและขอบคุณรัฐบาลที่ได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น จากการประชุม ครม.เศรษฐกิจ ทั้งมาตรการเพิ่มการท่องเที่ยวช่วง Low-season ที่เชื่อว่าจะช่วยกระจายรายได้ไปทั่วประเทศ รวมถึงการเสนอมาตรการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. วงเงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ที่เตรียมนำเสนอ ครม.นั้น จะส่งผลดีต่อเนื่องไปยังการลงทุน การจ้างงาน และการบริโภค และคาดว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจประมาณ 2 แสนล้านบาท ทั้งนี้ กกร.พร้อมเข้าไปมีส่วนช่วยคัดกรองและรับรอง SMEs ที่มีศักยภาพ ให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุม กกร.ได้เสนอให้ภาครัฐมีมาตรการเพิ่มเติมในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs รวมถึงมาตรการสนับสนุนให้ SMEs เข้ามาอยู่ในระบบเศรษฐกิจ เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นระยะเวลา 5-7 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวและเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น
2) กกร.อยู่ระหว่างหารือกับภาครัฐเกี่ยวกับแนวทางการปรับค่าแรงขั้นต่ำให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) และดำเนินการตามกรอบกฎหมาย ตามข้อเสนอของภาคเอกชนในประเด็นที่ได้นำเสนอรัฐบาลไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยแต่ละพื้นที่จะประสานผ่าน กกร.จังหวัด ให้มีการหารือร่วมกับคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด (ไตรภาคี) ต่อไป
3) ที่ประชุม กกร.มีความกังวลต่อภาคการส่งออกสินค้าที่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ที่มีแนวโน้มกลับมารุนแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกสินค้าของจีนไปยังสหรัฐ ทำให้จีนต้องหาตลาดใหม่ทดแทนเพื่อส่งออกสินค้า ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมต่อการส่งออกสินค้าของไทยที่อยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง
นอกจากนี้ภาคการส่งออกยังมีปัจจัยกดดันจากต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้นจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่หมุนเวียนไม่ทันเนื่องจากระยะเวลาขนส่งที่นานขึ้น ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคส่งออก และส่งเสริมสินค้าที่มีศักยภาพ ในอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุดเพื่อเพิ่มมูลค่าในการส่งออกของประเทศ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 5 มิถุนายน 2567