"เอลนีโญ" ปะทะ "ลานีญา" ไทยรับมือ โลกเดือด ฝนหนักสุดขั้ว
ปี 2567 จัดเป็นปีที่โลกมีความแปรปรวนจากผลกระทบ "โลกร้อน" อย่างเห็นได้ชัด ความแปรปรวนของสภาวะอากาศ ความแห้งแล้ง หิมะละลาย ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น พายุที่พัดผ่านแต่ละทวีปทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยเองก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากโลกที่ร้อนขึ้นได้ จนส่งผลให้ปีนี้ไทยต้องเผชิญสภาวการณ์ทั้งฝนน้อยน้ำน้อย หรือ “เอลนีโญ” กับสภาวะฝนมากน้ำมาก หรือ “ลานีญา” อยู่ในปีเดียวกัน ทำให้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ต้องบริหารจัดการน้ำอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการน้ำในช่วงครึ่งปีหลัง จากที่ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้วตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา
No Return อุณหภูมิโลกไม่ลด :
นายชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการและผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ หรือ TEAM Group กล่าวว่า หน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป (Copernicus Climate Change Service หรือ C3S) ได้เผยแพร่รายงานในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมานี้ว่า อุณหภูมิโลกในเดือนกุมภาพันธ์ได้พุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ โดยอุณหภูมิอากาศบนพื้นผิวตามชุดข้อมูล ERA5 เฉลี่ยอยู่ที่ 13.54 สูงกว่าค่าเฉลี่ยเดือนเดียวกันระหว่างปี 1991-2020 ถึง 0.81 องศา และสูงกว่าอุณหภูมิอากาศร้อนที่สุดก่อนหน้าในปี 2016 0.12 องศา ทำให้เดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ อุณหภูมิร้อนขึ้นถึง 1.77 องศา ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยเดือนกุมภาพันธ์ในช่วงปี 1850-1900 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม
C3S เตือนว่า ระบบภูมิอากาศจะร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะนำไปสู่อุณหภูมิสุดขั้วใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากความเข้มข้นที่แท้จริงของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศโลก ซึ่ง คาร์โล บูเอนเทมโป ผู้อำนวยการของ C3S ได้กล่าวไว้ล่าสุด
“เราต้องมาดูว่า เดือน ก.พ. อุณหภูมิร้อนขึ้น 1.77 องศา กับค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ 1.56 องศา และเคยคาดการณ์กันไว้ว่า อุณหภูมิโลกจะร้อนขึ้น 1.50 องศา ภายในปี 2050 แต่ตอนนี้มันร้อนเกินไปกว่าที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นถึง 26 ปี หรือโลกมันร้อนเร็วขึ้น ตอนนี้ก็ต้องมาดูว่า ในปี 2568 สภาวะโลกร้อนจะเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามที่ตั้งเป้าหมายกันไว้ ไม่ว่าจะเป็น COP 21 ที่ตกลงกันไว้ว่า จะไม่ปล่อยให้โลกร้อนขึ้นไปกว่าปีฐานปฏิวัติอุตสาหกรรม ก็ยังไม่สามารถปฏิบัติได้” นายชวลิตกล่าว
ที่สำคัญก็คือ ภาวะที่โลกร้อนขึ้นนั้นเป็นภาวะที่ “No Return” หรืออุณหภูมิโลกจะไม่ลดลงมาอีกแล้ว มีแต่จะเพิ่มขึ้น มันจะไม่หวนกลับมา มีแต่จะทับถมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่บรรยากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะคงอยู่ในชั้นบรรยากาศระหว่าง 200-450 ปี ถ้าโลกยังไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มันก็จะทับถมไปเรื่อย ๆ ตอนนี้คิดเป็น 3 Generations ของชั่วอายุคนแล้ว ที่ก๊าซเรือนกระจกสะสมอยู่จนกว่าจะสลายไปเอง “การที่อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นถึง 1.77 องศานั้นเป็นผลมาจากสภาวการณ์เอลนีโญหรือไม่ เป็น Climate Change มาเสริม El Nino หรือ El Nino มาเสริม Climate Change ทำให้มันรุนแรงขึ้น ทาง C3S เชื่อว่ามันเสริมซึ่งกันและกัน แต่ที่สำคัญก็คือ สภาวะอากาศมันสุดขั้วทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นแน่ ๆ”

เดือนมิถุนายนงดปลูกข้าวนาปี :
สำหรับแบบจำลองล่าสุดของ NOAA หรือ องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศสหรัฐ ที่รายงานในช่วงของวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ระบุว่า สภาวะเอลนีโญ่ หรือ ฝนน้อยน้ำน้อย กำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ภาวะปกติในเดือนมิถุนายน ต่อเนื่องด้วยการเกิดสภาวะลานีญา หรือ ฝนมากน้ำมาก มีโอกาสเกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนสิงหาคม ถึง 49% และมีโอกาสถึง 69% ที่ภาวะลานีญาจะเข้าสู่ช่วงสูงสุดในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน โดยอุณหภูมิของผิวน้ำทะเล ณ จุดต่าง ๆ ในเขตศูนย์สูตรด้านตะวันตก ตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิก จะมีค่า “สูงกว่า” ค่าเฉลี่ยปกติของปี
โดยแบบจำลองนี้บอกว่า ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงกว่าค่าเฉลี่ยบริเวณเส้นศูนย์สูตร 1.8 องศา คือ สภาวะเอลนีโญ ฝนน้อยน้ำน้อย Peak สุด ซึ่งประเทศไทยผ่านช่วงนั้นมาแล้ว ต่อมาอุณหภูมิของน้ำทะเลลดลงมาเหลือ 1 องศา และต่ำกว่า 0.5 องศา หรือกำลังเข้าสู่ Zone เป็นกลางในช่วงเดือนมิถุนายน และมีโอกาสถึง 69% ที่จะเข้าสู่สภาวะฝนมากน้ำมาก ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม-กันยายน ซึ่งค่าเฉลี่ยที่เป็นค่ากลางจากแบบจำลองนี้ น่าจะอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคมที่จะเกิดสภาวะลานีญาเต็มที่
อย่างไรก็ตาม เมื่อหันมาพิจารณา “ร่องฝน” หรือ “ร่องความกดอากาศต่ำ” ซึ่งจะปรากฏชัดเจนในช่วงกลางเดือนมิถุนายน ช่วงนี้ร่องฝนจะเลื่อนขึ้นไปยัง สปป.ลาว และจีนบริเวณคุนหมิงก็จะเกิดฝนตกมาก ส่งผลให้ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนตกน้อยลงในบางพื้นที่ มาจนถึงเดือนกรกฎาคมร่องฝนก็ยังไม่กลับเข้ามายังประเทศไทย ดังนั้นในช่วงเดือนกรกฎาคมจึงมีโอกาสสูงมากที่จะเกิดปรากฏการณ์ “ฝนทิ้งช่วง” ขึ้น เป็นบางพื้นที่ในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับการคาดหมายฤดูฝนของกรมชลประทาน ที่ว่าช่วงกลางเดือนมิถุนายน-กลางเดือนกรกฎาคม ปริมาณและการกระจายตัวของฝนในประเทศจะลดลง อาจทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่นอกเขตชลประทานขึ้นได้
“จะเกิดฝนทิ้งช่วงเป็นบางพื้นที่ของประเทศตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน ฝนจะน้อยลงแน่ จึงอยากเตือนเกษตรกรอย่าปลูกข้าวในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ เพราะข้าวจะขาดน้ำ มีโอกาสตายสูงมาก ถึงตอนนั้น กรมชลประทาน อาจจะไม่จัดสรรน้ำ หรือจัดสรรน้ำให้กับการเกษตรกรรมลดลง เนื่องจากปริมาตรน้ำใช้การได้ในเขื่อนหลักอย่าง เขื่อนภูมิพล ปัจจุบัน ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2567 เหลือน้ำใช้การได้ คิดเป็นร้อยละ 21 (2,076 ล้าน ลบ.ม.) ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์ เหลือน้ำใช้การได้แค่ร้อยละ 15 (1,029 ล้าน ลบ.ม.) 2 เขื่อนรวมกันเหลือน้ำใช้การได้แค่ 3,105 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 19 เท่านั้น” นายชวลิตกล่าว
สาเหตุที่เขื่อนหลักทั้ง 2 แห่งมีปริมาตรน้ำใช้การได้เหลืออยู่ 3,105 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งถือว่า “ต่ำ” ทั้ง ๆ ที่ตามปกติควรจะต้องเหลือน้ำใช้การได้ในช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูฝนไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้าน ลบ.ม.นั้น เป็นเพราะที่ผ่านมามีการจัดสรรน้ำให้กับพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังเกินไปกว่าแผนที่กำหนด เนื่องจากมีการประเมินว่า ถึงที่สุดแล้วในช่วงเดือนสิงหาคม ประเทศไทยจะเข้าสู่สภาวะลานีญา หรือฝนมากน้ำมาก ปริมาณน้ำที่เหลืออยู่น่าจะเพียงพอ แต่มันก็มีความเสี่ยง หากชาวนายังปลูกข้าวนาปีตามปกติในช่วงเดือนมิถุนายน ซึ่งปลูกเกินไปกว่าแผนที่กำหนดไว้อยู่แล้ว
“การปลูกข้าวต้องใช้น้ำมาก ถ้าชาวนายังคงปลูกข้าวทั้ง ๆ ที่รู้ว่า ช่วงเดือนกรกฎาคมจะเกิดปรากฏการณ์ฝนทิ้งช่วงแน่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกข้าวในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะต้องใช้น้ำรวมกันจาก 2 เขื่อน เดือนละ 1,000 ล้าน ลบ.ม. ก็จะยิ่งเกิดความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำได้ ตรงนี้ทาง สทนช.คงต้องตัดสินใจ หากเกิดภาวะแห่กันปลูกข้าวในช่วงเดือนมิถุนายน จะจัดสรรน้ำให้หรือไม่ เพราะลำพังปริมาณน้ำที่ 3,105 ล้าน ลบ.ม. หากจะใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค อุตสาหกรรม รักษาระบบนิเวศ แล้วยังมีน้ำเพียงพอไปจนกระทั่งถึงเดือนสิงหาคมที่ฝนจะตกมาก แต่หากยังจัดสรรน้ำให้กับการปลูกข้าวในเดือนกรกฎาคมแล้ว ปริมาณน้ำก็จะเหลืออยู่ในระดับ 400-500 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งถือว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และเกิดความเสี่ยงมาก” นายชวลิตกล่าว
ระวังอุบลน้ำท่วมซ้ำซาก :
แนวโน้มของ “ร่องฝน” ในเดือนสิงหาคม 2567 จะกลับมาพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยเข้าสู่สภาวะลานีญาอย่างสมบูรณ์แล้ว ตามปกติหากร่องฝนเคลื่อนที่จากจีน-สปป.ลาวลงมา “พายุ” ก็จะตามเข้ามาด้วย สิ่งที่ต้องติดตามก็คือ การก่อตัวของพายุในเขตมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก จะข้ามผ่านประเทศฟิลิปปินส์และดึงความชื้นจากทะเลจีนใต้เข้ามาขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนาม เคลื่อนที่ผ่านเข้ามายัง สปป.ลาว ก็จะเกิดทั้งฝนที่ตกตามปกติจากฤดูฝน และฝนที่เกิดจากพายุ
“ที่สำคัญก็คือ การเกิดสภาวะลานีญา ลมบริเวณเส้นศูนย์สูตรจะมีความแรงขึ้น ทำให้เกิดฝนตกมาก อุณหภูมิของผิวน้ำทะเลจะ ‘ต่ำกว่า’ ค่าเฉลี่ย มันจะดันพายุเคลื่อนที่เข้ามารุนแรงขึ้น จำนวนพายุไต้ฝุ่นที่จะเกิดในปีนี้จะเท่าเดิม ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่พายุจะเดินทางได้เร็วขึ้น จนมีโอกาสที่พายุไต้ฝุ่นจะพัดเข้าสู่พื้นที่ของประเทศไทยตรง ๆ ใน 1 ปีเฉลี่ยจะมีพายุเกิดขึ้นประมาณ 30 ลูก ในจำนวนนี้พายุจะเคลื่อนที่ขึ้นฝั่งทั้งที่ฟิลิปปินส์-ไต้หวัน-ฮ่องกง ประมาณ 15 ลูก แต่จะมีพายุทะลุมาขึ้นฝั่งที่เวียดนามประมาณ 5 ลูก และทะลุเข้ามาถึง สปป.ลาว-ประเทศไทย ระหว่าง 1-3 ลูกเท่านั้น
ตรงนี้จะเห็นได้ว่า สภาวะลานีญ่าไม่ได้ทำให้จำนวนพายุเพิ่มขึ้น ฤดูกาลยังเหมือนเดิม แต่ลานีญาทำให้ความรุนแรงของพายุเพิ่มขึ้น ประกอบกับการเกิดปรากฏการณ์โลกร้อน ฝนที่ตกหนักถึงหนักมากจากทั้งฝนตามฤดูกาลปกติ กับฝนจากพายุ อาจจะเกิดขึ้นเป็นหย่อม ๆ ไม่ได้กระจายไปทั่วประเทศ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมหนักเป็นจุด ๆ ไปตั้งแต่เดือนสิงหาคม-กันยายน หากพื้นที่นั้นมีฝนตกหนักเกินไปกว่า 200 มิลลิเมตร” นายชวลิตกล่าว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังก็คือ พายุจะเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณไหน ตามปกติในช่วงเดือนสิงหาคม ร่องฝนจะเคลื่อนที่พาดผ่านบริเวณนครพนม-มุกดาหาร ถัดมาในเดือนกันยายนก็จะเลื่อนลงมาบริเวณอุบลราชธานี
ดังนั้น พื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีจะต้องเตรียมตัวเฝ้าระวังมาก เพราะจังหวัดอุบลฯเป็นพื้นที่ปลายน้ำที่จะรับน้ำทั้งจากฝนที่ตกในจังหวัดเอง และฝนที่ตกในพื้นที่ตอนใน ตั้งแต่ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร ชัยภูมิ ก็จะไหลมาสมทบรวมกันที่จังหวัดอุบลราชธานี จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมอุบลราชธานีถึงน้ำท่วมนาน ไม่ต่ำกว่า 3 เดือน
ยิ่งปีนี้เป็นปีลานีญาด้วย น้ำก็จะมากเป็นพิเศษ หลังจากเดือนกันยายนไปแล้ว ร่องฝนก็จะเคลื่อนที่ไปยังพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ จะส่งผลให้แถบจังหวัดอีสานใต้และนครราชสีมามีฝนตกหนัก
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 8 มิถุนายน 2567