สหรัฐฯ ปักธงลุย อินโด-แปซิฟิก หนุนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานยั่งยืน 9 แสนล้าน
KEY POINTS
* การประชุมพันธมิตร IPEF ที่สิงคโปร์ ล่าสุด สร้างความก้าวหน้าผ่านข้อตกลง 3 ฉบับ ความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจสะอาด เศรษฐกิจที่เป็นธรรม
* ประเทศไทยแสดงเจตนารมณ์การพัฒนาพลังงานสะอาดและการบรรลุเป้าหมาย Net Zero
* สหรัฐฯ ผนึก 13 ชาติ ผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก IPEF หนุนโครงสร้างพื้นฐานยั่งยืน 9 แสนล้าน เน้น 20 เมกะโปรเจ็กต์
กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก หรือ IPEF ที่นำโดยสหรัฐฯ ถือเป็นความพยายามของ 14 ประเทศสมาชิกในการสร้างอนาคตที่ดีกว่าและเป็นธรรมมากขึ้น โดยมีประชากรรวมกันราวร้อยละ 60 ของประชากรโลก และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมกันราวร้อยละ 40 ของ GDP โลก

แม้ IPEF จะไม่ใช่ความตกลงการค้าเสรี แต่เป็นความพยายามในการจัดระเบียบความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบใหม่ ท่ามกลางสถานการณ์ที่โลกกำลังเผชิญกับการแบ่งขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน
ล่าสุดประเทศสมาชิกเหล่านี้ได้ประกาศความสำเร็จใหม่ที่สำคัญของข้อตกลง IPEF 3 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับ ความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจสะอาด และ เศรษฐกิจที่เป็นธรรม ในระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรี IPEF เเบบตัวต่อตัวครั้งเเรก ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 5-6 มิถุนายน 2567
ประเด็นที่น่าสนใจคือการเปิดตัว IPEF Clean Economy Investor Forum หรือฟอรัมนักลงทุน “เศรษฐกิจสะอาด” ซึ่งมีการรวบรวมนักลงทุนชั้นนำของภูมิภาค องค์กรการกุศล สถาบันการเงิน บริษัทที่มีนวัตกรรม และผู้ประกอบการ เพื่อระดมการลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน (Sustainable Infrastructure) และธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Tech ที่สำคัญต่อการบรรลุเป้าหมาย Net Zero
สหรัฐฯ หนุน IPEF ตั้งแนวร่วมลงทุน 9 แสนล้าน :
นางจีนา เอ็ม. เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุว่า Global Infrastructure Partners (GIP) และIndo-Pacific Partnership for Prosperity ได้จัดตั้งแนวร่วมเพื่อลงทุน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ ประมาณ 9 แสนล้านบาท ในโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก เช่น ศูนย์ข้อมูลสีเขียวในอินโดนีเซีย พลังงานทดแทนในฟิลิปปินส์ และเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าอัจฉริยะและพลังงานหมุนเวียนแบบไฮบริดในอินเดีย
นอกจากนี้ยังคาดหวังว่าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ฟอรัมดังกล่าวจะนำไปสู่การลงทุนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ในประเทศต่างๆ เช่น ประเทศไทย และมาเลเซีย เหตุผลคือประเทศเหล่านี้ต้องการดึงดูดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศของประเทศ

นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลอว์เรนซ์ หว่อง ได้เเสดงให้เห็นว่ากรอบความร่วมมือนี้มีความสำคัญสะท้อนผ่านสุนทรพจน์ โดยมีสาระสำคัญคือ เวียดนาม สิงคโปร์ และสหรัฐฯ จะจัดตั้งคณะทำงานด้านการพัฒนาสายเคเบิลใต้ทะเลภายใต้โครงการ IPEF เพื่อวางรากฐานสำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาดทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือประเทศต่างๆ ที่มีแหล่งพลังงานหมุนเวียนในการส่งออกส่วนเกินไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ขาดแคลนพลังงาน เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์
ในขณะประเทศไทยและเวียดนาม มีศักยภาพสูงในด้านพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์สามารถเข้าถึงพลังงานลมนอกชายฝั่งและความร้อนใต้พิภพได้ ส่วนประเทศภายนอก IPEF ในอาเซียนอย่างกัมพูชาและลาวสามารถใช้ไฟฟ้าพลังนํ้าได้
ยักษ์เอกชน 3 ชาติร่วมวงประชุม :
อีกประเด็นที่น่าสนใจสำหรับฟอรัมนี้ คือ ฝ่ายสหรัฐ ได้ดึงภาคเอกชน และกองทุนขนาดใหญ่ของสหรัฐเข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยปรากฎชื่อบริษัทยักษ์ใหญ่กว่า 22 แห่งในสหรัฐฯ อาทิ AWS ของ Amazon.com , Google ของ Alphabet, ไมโครซอฟต์, แบล็คร็อค,โกลด์แมน แซคส์, เจพีมอร์แกน, มอร์แกน สแตนลีย์ KKR

รวมทั้งนักลงทุนชาวออสเตรเลียและญี่ปุ่นรายใหญ่เข้าร่วมการประชุมด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิก IPEF ที่จะสามารถจับคู่โครงการพัฒนาของประเทศเข้ากับเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยรัฐบาลสหรัฐ จะช่วยพัฒนาข้อเสนอเพื่อให้ดึงดูดภาคเอกชนสหรัฐ
ไทย ชู Climate Tech :
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้แสดงวิสัยทัศน์บนเวทีเสวนา IPEF Clean Economy Investor Forum โดยกล่าวยํ้า นโยบายของรัฐบาลไทยมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero โดยเฉพาะนโยบายส่งเสริม EV 30@30 การปรับปรุงกฎระเบียบที่เอื้อต่อการลงทุน การพัฒนาพลังงานสะอาดเพื่อรองรับการลงทุน
ขณะเดียวกันยังได้แสดงถึงศักยภาพของประเทศไทยในด้านเศรษฐกิจ เพื่อการพัฒนาแห่งอนาคตในสาขาเป้าหมายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และการเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วน IPEF ตามนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก เพื่อสนับสนุนการขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและการลงทุน รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
โดยเฉพาะในสาขา Climate Tech ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นประโยชน์ต่อสภาพภูมิอากาศ ขณะเดียวกันได้เเสดงจุดยืนของไทยในการให้ความสำคัญและสร้างความร่วมมือกับภูมิภาคต่างๆ ในโลกอย่างสมดุลผ่านกรอบความร่วมมือและองค์กรต่างๆ รวมถึงกรอบความร่วมมือ IPEF ระดับภูมิภาคที่ริเริ่มโดยสหรัฐ
ไทยร่วมลงนาม IPEF 3 ฉบับ :
“ประเทศไทย” หนึ่งในประเทศสมาชิก ได้เเสดงเจตนารมณ์ในการยกระดับมาตรฐานการค้าการลงทุนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก พร้อมรายงานพัฒนาการของประเทศไทยในกรอบ IPEF และความร่วมมือที่จะนำวิสัยทัศน์ไปสู่การปฏิบัติจริง มีผลเป็นรูปธรรม โดยย้ำว่า ประเทศไทยมุ่งมั่นขยายความร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วน IPEF


โดยรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ “นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์" ได้ร่วมลงนามในความตกลงสำคัญ 3 ฉบับ ประกอบด้วย ความตกลงว่าด้วยเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความตกลงว่าด้วยเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรือง โดยความตกลงดังกล่าวจะนำไปสู่การดำเนินการความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ส่งเสริมความโปร่งใสและธรรมาภิบาล และจัดตั้งกลไกระดับรัฐมนตรีเพื่อกำกับดูแลความร่วมมือ IPEF ในภาพรวมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกัน
20 โครงสร้างพื้นฐานยั่งยืนพร้อมรับลงทุน :
อีกหนึ่งไฮไลท์การประชุม Clean Economy Investor Forum มีโครงการ โครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน ทั้งหมด 69 โครงการ คิดเป็นโอกาสการลงทุนรวมมูลค่ากว่า 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 9 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้มี 20 โครงการที่พร้อมรับการลงทุน มูลค่าประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ถูกนำเสนอต่อนักลงทุนในช่วงกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจ ส่วนโครงการที่เหลือมูลค่าประมาณ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ว่าจะไม่ได้ถูกนำเสนอต่อนักลงทุน แต่โครงการเหล่านี้ยังคงได้รับการยอมรับว่าเป็นโอกาสในการลงทุนที่มีศักยภาพในอนาคต
สำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนที่พร้อมรับการลงทุน 20 โครงการ ครอบคลุมหลากหลายด้าน เช่น นิคมอุตสาหกรรม เขตเศรษฐกิจพิเศษ พลังงาน เกษตรกรรมและการเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้า การจัดการขยะ นํ้า และภาคการขนส่ง โดยมีการเสนอชื่อจากบรูไน ฟิจิ อินเดีย อินโดนีเซีย สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ รวมทั้งประเทศไทย
2 เมกะโปรเจ็กต์ไทยติดโผลงทุน :
สำหรับไทย มี 2 โครงการที่อยู่ในรายชื่อโครงการพร้อมรับการลงทุน 20 โครงการ คือ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) ค่าใช้จ่ายรวมของโครงการประมาณ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เเละ โครงการแยกก๊าซธรรมชาติเพื่อประสิทธิภาพการดักจับคาร์บอน ไดออกไซด์ ค่าใช้จ่ายรวมของโครงการคาดว่าจะอยู่ที่ 15-20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นอกจากนี้ ยังมีสตาร์ทอัพเทคโนโลยีสภาพภูมิอากาศ 49 แห่ง พยายามระดมทุนสูงสุดถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในฟอรัมการลงทุนจากรายการ “Indo-Pacific Climate Tech 100” ของสตาร์ทอัพเทคโนโลยีสภาพภูมิอากาศชั้นนำในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ในจำนวนนี้มี 4 สตาร์ทอัพของไทย ได้แก่ Inno Green Tech นวัตกรรมระบบบำบัดนํ้าเสียเพื่อสิ่งแวดล้อม Carbonwize แพลตฟอร์มประเมิน Carbon Footprint AltoTech Global ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม IoT สำหรับจัดการระบบการใช้พลังงานในอาคาร โรงแรม และโรงงาน เเละ PAC Corporation ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเครื่องทำนํ้าร้อน และเครื่องปรับอากาศประหยัดพลังงานเข้าร่วมด้วย
4 ชาติลงขันตั้งกองทุนร่วมทุน 33 ล้านดอลลาร์ :
การประชุม Clean Economy Investor Forum ยังมีการประกาศโครงการและเงินทุนใหม่ อย่าง กองทุน IPEF Catalytic Capital Fund โดย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐ เพื่อขยายโครงการโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจสะอาดที่สามารถลงทุนได้ โดยมีเงินทุนเริ่มต้นรวม 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าจะสามารถกระตุ้นการลงทุนเอกชนได้สูงถึง 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในประเทศที่มีสิทธิ์รับความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (ODA)
ที่น่าสนใจก็คือ บรรษัทการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ (DFC) อยู่ระหว่างลงทุนในกองทุนพลังงานสะอาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งที่สอง (SEACEF) โดยรอการแจ้งเตือนจากรัฐสภา ซึ่งจะช่วยให้ SEACEF ระดมทุนประมาณ 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลงทุนในโครงการและบริษัทในระยะเริ่มต้นที่จะเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่ต้านทานต่อสภาพภูมิอากาศและเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การลงทุนของ SEACEF จะกระตุ้นการลงทุนจากนักลงทุนอื่นๆ สำหรับโครงการพลังงานสะอาด การเก็บพลังงาน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การเคลื่อนย้ายไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐานของกริด
การประชุมครั้งนี้ยังได้เห็นการประกาศความร่วมมือและโครงการจากองค์กรและบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ เช่น AWS, Bloom Energy, Google, Global Energy Alliance for People and Planet, I Squared Capital และ Stonepeak ซึ่งประกาศคำมั่นสัญญา โครงการ และความร่วมมือครั้งใหญ่
2 ปี “IPEF” :
2 ปีนับตั้งแต่การเปิดตัว กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก หรือ Indo-Pacific Economic Framework หรือ IPEF เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ในโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โครงการนี้เป็นการรวมพลังของหลายประเทศ เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าและเป็นธรรมกับทุกคน กรอบความร่วมมือนี้ไม่ใช่ความตกลงการค้าเสรีหรือการเปิดตลาดอย่างที่คุ้นเคยกัน แต่เป็นความพยายามที่จะร่วมมือและจัดระเบียบในการทำความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจแบบใหม่
โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศจัดตั้งกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจนี้ หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ได้ประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก หรือ TPP ในปี 2017 การเปิดตัวครั้งนั้น โจ ไบเดน ได้เน้นย้ำว่า อนาคตทางเศรษฐกิจของศตวรรษที่ 21 จะถูกเขียนโดยภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

ขณะที่ในช่วงเวลาที่โลกกำลังฟื้นตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้เปิดตัวกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการกลับมามีบทบาทนำทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ IPEF ไม่เพียงแต่เป็นการสร้างเครือข่ายทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคมีทางเลือกนอกเหนือจากอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน
ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานโลกสะดุด ความร่วมมือนี้ยังเอื้อให้สหรัฐฯ สามารถขยายการค้าและการลงทุน รวมถึงการส่งออกเทคโนโลยีในภูมิภาคได้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาจีนซึ่งเป็นเสมือน "โรงงานของโลก" มาอย่างยาวนาน
พันธมิตร IPEF ทั้ง 14 ประเทศ ได้เเก่ 1.ออสเตรเลีย 2.บรูไน 3.ฟีจี 4.อินเดีย 5.อินโดนีเซีย 6.ญี่ปุ่น 7.เกาหลีใต้ 8.มาเลเซีย 9.นิวซีแลนด์ 10.ฟิลิปปินส์ 11.สิงคโปร์ 12.ไทย 13.สหรัฐฯ 14.เวียดนาม
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที 12 มิถุนายน 2567