"UAE" เทจีน เลือก "สหรัฐ" ร่วมพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ในยุคสมรภูมิแข่ง AI เดือด
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เททุนจีน เลือกเงินทุนสหรัฐ หวังพัฒนาอุตสาหกรรมเอไอ เพื่อขึ้นเป็น "ผู้เล่นระดับโลก"
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ประเทศกำลังทำงานร่วมกับสหรัฐเกี่ยวกับการพัฒนาเอไอ บ่งชี้ว่ายูเออีเริ่มปลีกตัวห่างจากจีน
“โอมาร์ อัล โอลามา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงปัญญาประดิษฐ์ยูเออี ออกมาเปิดเผยเกี่ยวกับการลงทุนด้านเอไอเมื่อวันอังคาร (11 มิ.ย.67 ) หลังบริษัทรัฐวิสาหกิจ Emirati AI ได้รับเงินลงทุนก้อนใหญ่จากไมโครซอฟท์ โดยมีเงื่อนไขเสนอว่าบริษัทจะยกเลิกข้อตกลงเงินลงทุนจากจีน
“ผมคิดว่าความเป็นจริงในโลกเอไอทุกวันนี้ เราจำเป็นต้องเลือกคนที่เราจะทำงานด้วย” โอลามา ตอบ เมื่อเอเอฟพีถามถึงข้อตกลงของยูเออีกับธุรกิจเอไอจีน
“มีเรื่องต้องหารือมากมายระหว่างยูเออี และสหรัฐ เกี่ยวกับความพึงพอใจของเขาต่อสิ่งที่เราทำกับผู้เล่นอื่นๆ ทั่วโลก และสิ่งที่พวกเขาไม่สบายใจ ... แต่ในเรื่องเอไอ ผมคิดว่าจะเกิดความร่วมมืออย่างเต็มที่ระหว่างยูเออี และสหรัฐ”
เอเอฟพีรายงานว่า G42 บริษัทด้านเอไอในกรุงอาบูดาบี ที่มีชีค ทาห์นูน บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน น้องชายของประธานาธิบดียูเออี และที่ปรึกษาด้านความมั่นคงนั่งประธานบริษัท ได้รับเงินลงทุนเชิงยุทธศาสตร์มูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์ จากไมโครซอฟท์ บริษัทเทคยักษ์สัญชาติสหรัฐ เมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา
ตามรายงานของนิวยอร์กไทม์ส และบลูมเบิร์ก ระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการหารือระหว่างรัฐบาลสหรัฐ และยูเออี ซึ่ง G42 เห็นด้วยเกี่ยวกับการยกเลิกข้อตกลงกับพันธมิตรจีน และหันไปสนับสนุนเทคโนโลยีจากสหรัฐ
‘เอไอ’ คือสิ่งที่สำคัญที่สุด :
เอไอ กลายเป็นสมรภูมิรบขนาดใหญ่ระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ และจีน ขณะนี้สหรัฐกำลังเคลื่อนไหวเพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำในด้านการเปลี่ยนแปลง และยับยั้งจีนไม่ให้เข้าถึงข้อมูลที่อ่อนไหว
โอลามา รัฐมนตรีวัย 34 ปี ผู้ได้เป็นรัฐมนตรีเอไอคนแรกของโลกในปี 2560 เผยว่า ยูเออี ประเทศที่กำลังลดพึ่งพาน้ำมันอย่างแข็งขัน มีความมุ่งมั่นด้านเอไอเป็นอย่างมาก
“เอไอน่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในแง่ของการลงทุนของยูเออี และความมุ่งมั่นของยูเออี”
เมื่อเดือนก่อน บริษัท G42 ที่ขับเคลื่อนด้วยซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้เปิดตัวฟอลคอน 2 (Falcon 2) ซึ่งเป็นโมเดลเอไอโอเพนซอร์ส เพื่อพยายามแข่งขันกับเอไอของอเมริกันอย่าง ChatGPT ของบริษัทโอเพนเอไอ
Inception บริษัทในเครือ G42 และมหาวิทยาลัยเอไอโมฮัมเหม็ด บิน ซาเยด (Mohamed bin Zayed University of Artificial Intelligence) ในกรุงอาบูดาบี ยังได้ผลิต Jais โมเดลภาษาอารบิกขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพสูงที่สุดในโลกอีกด้วย
ด้านโอลามาเชื่อมั่นว่า โมเดลเอไอเหล่านั้นจะสามารถผ่านพ้นอุปสรรคด้านกฎระเบียบจากสหประชาชาติ (อียู) ได้ ซึ่งอียูเพิ่งผ่านร่างกฎหมายเอไอ และมีมาตรฐานเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลที่เข้มงวด รวมทั้งข้อมูลจากรัฐบาล และแหล่งข้อมูลด้านสุขภาพ
“กฎหมายเอไอของอียูเป็นเรื่องที่ใหม่มาก เรายังคงศึกษาอยู่ เพื่อให้เข้าใจ และเห็นถึงสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ” โอลามา กล่าว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 12 มิถุนายน 2567