ชำแหละ "PDP 2024" แผนพัฒนาบนความเสี่ยง
ช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีการเปิดรับฟังความเห็นเกี่ยวกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2567-2580 (Power Development Plan : PDP 2024) ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันพอสมควร
รวมถึง พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ระบุว่า คงต้องทบทวน PDP 2024 ให้เหมาะสม โดยเฉพาะการลดกำลังการผลิตของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะต้องดูความสามารถด้านการลงทุนของ กฟผ. ด้วย เหมือนส่งสัญญาณว่าหากยืนยันตาม PDP 2024 อาจกระทบกับความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศได้
PDP 2024 ดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญาถึงช่วงสิ้นสุดแผนในปี 2580 สูงถึง 112,391 เมกะวัตต์เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตอยู่ 53,868 เมกะวัตต์ โดยมีการพยากรณ์
ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศช่วงปี 2580 อยู่ที่ 56,133 เมกะวัตต์ นั่นถือว่าจะมีปริมาณสำรองไฟฟ้าค่อนข้างสูงมาก
PDP 2024 จึงจัดหาไฟฟ้าใหม่เข้าระบบมากถึง 77,407 เมกะวัตต์ แต่ กฟผ. มีโอกาสสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพียง 6,572 เมกะวัตต์เท่านั้น เช่นเดียวกับแผนจัดหาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 34,851 เมกะวัตต์
กฟผ.มีโอกาสเข้าไปลงทุนเพียงโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำแค่ 2,681 เมกะวัตต์
เท่ากับว่า สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าในปี 2580 ของ กฟผ.จะเหลือเพียง 17% หรือประมาณ 19,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 29% นอกจากนี้ PDP 2024 ยังจะชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี 1,400 เมกะวัตต์ ของ กฟผ. ออกไปก่อน คาดกันว่าจะเปิดโอกาสให้โรงไฟฟ้าของเอกชนที่ราชบุรีเข้าระบบแทน ทำให้ช่วงปลายแผน PDP 2024 โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติจะมีสัดส่วนยังสูงถึง 41% และพลังงานทดแทน 51%
การลดสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ลดลงเหลือ 17% ถือว่าสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ เพราะ กฟผ. เป็นกลไกของรัฐในการรักษาเสถียรภาพระบบไฟฟ้า
เคยมีบทเรียนสำคัญมาแล้วเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 เกิดฟ้าผ่าสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 กิโลโวลต์ของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา ที่ สปป.ลาว ส่งผลให้กำลังผลิตไฟฟ้า 1,300 เมกะวัตต์ ที่ต้องส่งเข้าระบบไฟฟ้าของไทยหายไปทันที ความถี่ของระบบไฟฟ้าลดต่ำลงจากมาตรฐานปกติที่ 50 เฮิรตซ์ แต่ระหว่างที่ระบบตอบสนองความถี่อัตโนมัติกำลังทำงานเพื่อรักษาระบบอยู่นั้น
ปรากฏว่าโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) 37 ราย ได้ปลดเครื่องผลิตไฟฟ้า ดีดตัวเองออกจากระบบ ทั้งที่ไม่ถึงเกณฑ์ความถี่ของระบบไฟฟ้าขั้นต่ำที่กำหนดไว้ ส่งผลให้ระบบไฟฟ้าเสียกำลังผลิตไปอีก 2,516 เมกะวัตต์ (เทียบเท่ากับกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 3 โรง) ทำให้เกิดไฟฟ้าดับเป็นวงกว้างในภาคเหนือ ภาคกลาง และอีสานกว่า 30 จังหวัด
เหตุการณ์ครั้งนั้น ทางศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติสั่งเพิ่มกำลังผลิตสำรองที่มีอยู่อย่างเร่งด่วน ส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าของ กฟผ. เร่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และเครื่องกังหันก๊าซที่สามารถขนานเข้าระบบได้ภายใน 5-30 นาที เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนรัชชประภา เขื่อนลำตะคอง โรงไฟฟ้าบางปะกง โรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงไฟฟ้าวังน้อย ส่งผลให้กลับมาจ่ายไฟฟ้าได้ภายใน 50 นาที แต่ก็สร้างความสูญเสียไม่น้อย รวมถึงความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพระบบไฟฟ้าของไทย
จากเหตุการณ์ไฟฟ้าดับครั้งนั้น เป็น
บทเรียนสำคัญว่า เมื่อเกิดวิกฤตขึ้น โรงไฟฟ้าเอกชนต่างชิ่งหนีเอาตัวรอด ยอมจ่ายค่าปรับแทน ภาระหน้าที่สำคัญนี้ตกอยู่กับ กฟผ. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้องเข้าไปแก้ปัญหา พยุงระบบ และกู้กลับคืนมา
ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการนโยบายด้านบริการสาธารณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค อดีตอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้ความเห็นถึง PDP 2024 ที่กำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.เหลือแค่ 17% ส่งผลต่อขีดความสามาถของ กฟผ.ทำให้องค์กรเล็กลง กระทบต่อรายได้ ที่สำคัญอาจนำไปสู่การลดจำนวนพนักงานลงในที่สุด
นอกจากนี้ PDP 2024 ยังผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติมากเกินไปเมื่อรวมกับการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศจะทำให้มีสัดส่วนมากถึง 80% ถือว่าพึ่งพาคนอื่นมากเกินไป ทำให้มีความเสี่ยงจากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ที่ผ่านมา LNG เคยมีราคาสูงถึง 5 เท่าช่วงเกิดสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ดังนั้น ภาครัฐควรส่งเสริมเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และแบตเตอรี่ เป็นไปตามเทรนด์โลก ซึ่งทุกวันนี้มีเทคโนโลยีทันสมัยและราคาถูกลงแล้ว ดังนั้นภาครัฐก็ควรส่งเสริม กฟผ.เข้าไปผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ลอยน้ำและพลังงานน้ำแบบสูบกลับมากขึ้น
ขณะที่ นที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เห็นว่า PDP 2024 กำหนดกำลังการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเข้ามาเพิ่มมากเกินไปถึง 6,300 เมกะวัตต์ โดยอ้างว่าเพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า แต่ที่ผ่านมาช่วงเกิดสงครามรัสเซียกับยูเครน มีบทเรียนราคา LNG ในตลาดโลกพุ่งขึ้นถึง 5 เท่า ส่งผลให้ค่าไฟปรับตัวสูงขึ้น นั่นหมายความว่าโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติไม่ได้ตอบโจทย์ความมั่นคงระบบไฟฟ้าอย่างที่คิดเสมอไป
“เพื่อตอบโจทย์ประเทศในการมุ่งสู่ Net Zero ตามเป้าหมายที่วางไว้ในปี 2065 ภาครัฐต้องสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ซึ่งใน PDP 2024 สามารถเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้อีก ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานแสงอาทิตย์แบบทุนลอยน้ำของ กฟผ. พลังงานลม โดยเฉพาะไบโอแก๊ส และไบโอแมส ที่มีวัตถุดิบในประเทศเพียงพอ และยังสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรด้วย” นทีระบุ
นับจากนี้จนถึงเดือนกันยายน 2567 หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง PDP 2024 จะมีผลบังคับใช้ แต่ผู้เกี่ยวข้องหลายคนเห็นว่ายังมีความสุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อเสถียรภาพและความมั่นคงระบบไฟฟ้า
จึงควรถอดบทเรียนเพื่อรับมือกับวิกฤต หรือเหตุฉุกเฉินที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ การวางแผนกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศจำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงในยามคับขันด้วย กฟผ.ควรมีโรงไฟฟ้าในระดับที่เพียงพอต่อการรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น หากต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจหวังพึ่งพาโรงไฟฟ้าเอกชนมากเกินไปอาจเกิดปัญหาซ้ำรอยเหมือนเมื่อปี 2561 ถ้าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศและเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
กฟผ.มีความสำคัญในการดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ จึงต้องมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพื่อยังคงความเป็นกลไกสำคัญของรัฐในการรับมือกับวิกฤตไฟฟ้าที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำอีกด้วย
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 14 กรกฏาคม 2567