ยุคทรัมป์ 2.0 เวียดนามอาจไม่เจ็บอย่างที่คิด
มีการคาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่า "เวียดนาม" ซึ่งเป็นประเทศที่สหรัฐเสียดุลการค้าให้มากเป็นอันดับ 3 จะได้รับผลกระทบหนัก เมื่อรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ จะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากทุกประเทศ 10% ถึง 20% (ยกเว้นจีนที่จะเก็บอย่างน้อย 60%) ยิ่งประเทศไหนที่สหรัฐเสียดุลให้มากก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะโดนตรวจสอบหนัก และเสี่ยงที่จะเจออัตราภาษีสูงสุดตามกรอบที่ประกาศไว้
เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนในสมัยรัฐบาลทรัมป์ 1.0 โดยมีธุรกิจจำนวนมากย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมายังเวียดนาม เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากกำแพงภาษีที่ทรัมป์ก่อขึ้นสำหรับกีดกันสินค้าจากจีน และยิ่งได้รับแรงหนุนมากขึ้นอีกเมื่อมาถึงยุครัฐบาลโจ ไบเดน ที่พยายามแบ่งขั้วเศรษฐกิจออกเป็นขั้วสหรัฐกับขั้วจีน
ปรากฏการณ์การย้ายฐานผลิตจากจีนมาเวียดนาม ทำให้มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งส่งผลให้ยอดดุลการค้าที่เวียดนามได้จากสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยเมื่อปี 2017 ที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐสมัยแรก เวียดนามได้ดุลการค้าสหรัฐอยู่ 38,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ล่าสุดเมื่อปี 2023 เวียดนามได้ดุลสหรัฐมากถึง 104,627 ล้านดอลลาร์
อานิสงส์ผลบวกนี้กลายเป็นดาบสองคมสำหรับเวียดนาม เพราะในขณะที่มีเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามากมายและส่งออกสินค้าได้มากขึ้น แต่เศรษฐกิจเวียดนามก็ต้องพึ่งพาสหรัฐสูงมาก โดยการส่งออกของเวียดนามไปยังสหรัฐคิดเป็นเกือบ 30% ของการส่งออกทั้งหมด อีกทั้งการลงทุนของต่างชาติในเวียดนามที่เพิ่มขึ้นนั้นก็มาจากบริษัทจีนเป็นจำนวนมาก เวียดนามจึงถูกมองว่าเป็นประเทศที่เสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากนโยบายทางการค้าของทรัมป์มากประเทศหนึ่ง
นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโอเวอร์ซี-ไชนีส แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น (OCBC) จากสิงคโปร์คาดการณ์ว่า หากสหรัฐเก็บภาษีสินค้าจากเวียดนามมากถึง 20% จะส่งผลให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามอาจจะลดลง 4 จุดเปอร์เซ็นต์ (Percentage Point) เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่ถูกเก็บภาษี
แต่ขณะเดียวกันก็มีมุมมองความเห็นแยกออกไปอีกทางว่า หรือจริง ๆ แล้วเวียดนามจะยังได้ประโยชน์มากกว่าที่ได้รับผลกระทบ?
ผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งมองว่าเวียดนามคงไม่เดือดร้อนขนาดนั้น เพราะรัฐบาลเวียดนามอาจจะเพิ่มการตรวจสอบการลงทุนของจีนในเวียดนาม หรือเปิดการสอบสวนการทุ่มตลาดของสินค้าจีนเพื่อเอาใจทรัมป์ และอาจจะดำเนินมาตรการเพื่อลดการเกินดุลการค้า โดยการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐมากขึ้น
แต่หากเวียดนามจะใช้แนวทางเพิ่มการนำเข้าจากสหรัฐ ปีเตอร์ มัมฟอร์ด (Peter Mumford) หัวหน้าฝ่ายภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ ยูเรเซีย กรุ๊ป (Eurasia Group) บริษัทที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงทางการเมืองวิเคราะห์ว่า แนวทางนี้มีความท้าทายตรงที่ว่าเศรษฐกิจเวียดนามมีขนาดไม่ใหญ่ ดังนั้น จึงมีศักยภาพที่จะเพิ่มการนำเข้าได้ไม่มากนัก
ส่วนด้านที่มีการคาดการณ์ว่าเวียดนามจะยังคงได้รับประโยชน์ต่อไปก็คือ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เนื่องจากแผนของทรัมป์ที่จะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนขั้นต่ำ 60% นั้น จะทำให้มีการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ซึ่งเวียดนามที่ถูกเลือกมาก่อนหน้านี้ และมีกำลังการผลิตที่ขยายตัวอยู่นั้น ยังคงเป็นประเทศที่เหมาะสมที่จะถูกเลือกเป็นฐานการผลิตต่อไป
เหงียน ถุยแองห์ (Nguyen Thuy Anh Nguyen) กรรมการบริหารบริษัทจัดการสินทรัพย์ ดรากอน แคปิตัล (Dragon Capital) วิเคราะห์ว่า การลงทุนจากบริษัทจีนอาจต้องเผชิญการตรวจสอบเป็นพิเศษจากรัฐบาลเวียดนาม แต่เวียดนามจะยังคงดึงดูด FDI ได้มากขึ้น เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ จะยังคงย้ายฐานการผลิตออกจากจีนต่อไป ส่วนด้านการค้า รัฐบาลเวียดนามมีแนวโน้มที่จะปรับแนวทางการนำเข้าและส่งออก การเจรจาข้อตกลงการค้า และการเข้มงวดกับกฎถิ่นกำเนิดสินค้า เพื่อลดความเสี่ยงด้านภาษีศุลกากร
นอกจากนั้น ยังมีการวิเคราะห์ลงไปอีกว่า เวียดนามเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “มิตร” ของสหรัฐ และดูเหมือนว่าทรัมป์จะชอบเวียดนามกว่าประเทศอื่น ๆ ทั่วไป
ทรัมป์เป็นหนึ่งในคนที่คัดค้านสงครามเวียดนามอย่างเปิดเผย และในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก เขาเดินทางเยือนเวียดนามถึงสองครั้ง บริษัท เดอะ ทรัมป์ ออร์แกไนเซชัน (The Trump Organization) ของเขายังมีการลงทุนในเวียดนามด้วย อีกทั้งโต เลิม ผู้นำเวียดนามก็เป็นผู้นำประเทศแรก ๆ ที่ได้คุยกับทรัมป์หลังจากที่เขาชนะเลือกตั้งล่าสุด
เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยความเป็นมิตรของสหรัฐกับเวียดนาม นักเศรษฐศาสตร์ นักวิเคราะห์หลายคนจึงมองว่าเวียดนามคงจะไม่โดนรัฐบาลทรัมป์ “เล่นแรง” เว้นแต่ว่ามีแรงกดดันจากชาวอเมริกันให้ต้องแก้ไขความไม่สมดุลที่สหรัฐขาดดุลให้เวียดนามมากเกินไป
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2567