30 บิ๊กธุรกิจสหรัฐฯ บุกไทย หาช่องลงทุนตั้งฐานการผลิต PCB เซมิคอนดักเตอร์
"พิชัย" รมว.พาณิชย์ ต้อนรับ ทัพนักธุรกิจรายใหญ่สหรัฐฯ USABC ชวนลงทุน-ตั้งฐานการผลิตอุตสาหกรรมใหม่ในไทย ย้ำไทยกำลังฮอต พาณิชย์พร้อมอำนวยความสะดวกการค้า-ลงทุนเต็มที่
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือกับคณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน หรือ US-ASEAN Business Council (USABC) นำโดยเอกอัครราชทูตเท็ด โอเซียส (Ambassador Ted Osius) และมีนักธุรกิจจำนวนกว่า 57 ราย จาก 30 บริษัท ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ได้แก่ การท่องเที่ยว อาหารและเกษตร พลังงาน เทคโนโลยี สารสนเทศ สุขภาพและการเงิน อาทิ บริษัท Amazon, Boeing, ExxonMobil, Citi, Google, Mastercard, Pfizer, Philip Morris, Seagate และ Tyson
ทั้งนี้ เพื่อมาหารือแนวทางการส่งเสริมการค้าและการลงทุน แก้ปัญหาสิ่งที่เป็นอุปสรรคทางการค้าร่วมกัน สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อธุรกิจ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการค้า ณ ห้องประชุมมโนปกรณ์นิติธาดา ชั้น 12 กระทรวงพาณิชย์ ช่วงเย็นวานนี้ (25 พฤศจิกายน67)
นายพิชัย เปิดเผยว่า มีนักลงทุนจากสหรัฐอเมริกา-อาเซียน หรือ USABC เข้ามาพบที่กระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากทราบดีว่าประเทศไทยจะมีการลงทุนไหลเข้ามามากโดยเฉพาะจากสหรัฐฯ อาทิ Western Digital และ Seagate จะมาขยายการลงทุน HP จะย้ายฐานการลงทุนมาไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ไปประชุมทูตพาณิชย์ในภูมิภาคอเมริกาและลาตินอเมริกา ที่สหรัฐฯ
ขณะเดียวกัน ได้รับข้อมูลว่าสหรัฐฯจะมีการลงทุนเข้ามาไทยเยอะ และตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนตุลาคมที่ผ่านมาสูงมากเป็นเลขสองหลัก ซึ่งน่าพอใจและเรายังมีแนวโน้มที่จะโตขึ้นอีก โดยประเทศไทยจะเป็น Investment Destination หรือ จุดหมายปลายทางของการลงทุนที่สหรัฐฯอยากจะมาลงทุน
นอกจากนี้ ในการหารือตนได้ขอให้ทางนักธุรกิจไปคุยกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในเรื่องของ GSP (สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร) และเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่ประเทศไทยอยู่ในบัญชี Watch List (ประเทศที่ต้องจับตามอง) ซึ่งตนก็ได้หารือกับนางแคทเธอรีน ไท ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งท่านก็รับปากจะไปดำเนินการให้
ทั้งนี้ ประเด็นที่ไทยได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯเยอะ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ทางสหรัฐฯมาตั้งฐานการผลิตที่ไทยแล้วส่งกลับไปที่สหรัฐฯ ทั้งจาก Western Digital และ Seagate ขอให้ทางนักธุรกิจสหรัฐฯช่วยแจ้งไปยังท่านประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งทางไทยอยากได้รับการส่งเสริมเพราะไทยมีความเป็นมิตรกับทุกประเทศทั้ง สหรัฐฯ UAE จีน อินเดีย เรามีโอกาสที่จะได้รับการลงทุนจากหลายประเทศ ซึ่งจากที่ตนไปร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ที่สาธารณรัฐเปรู ทุกประเทศต่างบอกว่า ไทยจะเป็นศูนย์กลางการลงทุน PCB (แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์) เราจะผลิต PCB มากที่สุดในโลก จะมีการโยกย้ายฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์เข้ามาเยอะมาก
นอกจากนี้ รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ พร้อมที่จะแก้ไขปัญหาให้กับนักธุรกิจเต็มที่และก็เร่งเจรจาเขตการค้าเสรีหรือ FTA ให้มี FTA มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ FTA ระหว่างไทยกับเอฟตาก็น่าจะจบได้ในเดือนมกราคมนี้ แล้วหลังจากนั้นจะตามมาด้วย FTA ไทย-อียู อาเซียน-แคนาดา ซึ่งมีโอกาสสำเร็จสูง และในเดือนพฤษภาคม ท่านรัฐมนตรีแคนาดาจะนำนักลงทุนจากแคนาดากว่า 100 คน มาเมืองไทย เพื่อหาช่องทางลงทุนในไทย
“ตอนนี้ประเทศไทยเรากำลังฮอต ตนได้พบกับท่านรองนายกฯคลัง (พิชัย ชุณหวชิร) ท่านเดินทางไปจีน มีบริษัทจีนอยากย้ายเข้ามาเมืองไทยเต็มไปหมด เรากำลังไปได้ดีประเทศไทยกลับมาฮอตใหม่เหมือนอย่างในอดีต ขอให้สภาวะนี้เป็นไปเรื่อยๆ รายได้ของประชาชนจะได้เพิ่มขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทำให้ประเทศเราเจริญต่อได้“นายพิชัย กล่าว
สำหรับองค์กร USABC เป็นองค์กรที่มีสมาชิกเป็นบริษัทชั้นนำสหรัฐฯที่เข้ามาลงทุนหรือทำธุรกิจกับประเทศในอาเซียน โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงวอชิงตัน และสำนักงานสาขา 7 แห่งในนครนิวยอร์ก กรุงเทพฯ กรุงฮานอย กรุงจาการ์ตา กรุงกัวลาลัมเปอร์ กรุงมะนิลา และสิงคโปร์ โดยในปี 2566 สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าลำดับที่ 2 ของไทยรองจากจีน โดยการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯมีมูลค่า 67,659.89 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 อยู่ที่ 3.65% ซึ่งสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 1 ของไทย โดยไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่า 48,352.79 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 อยู่ที่ 1.72%
อย่างไรก็ดี มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 55,681.20 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 อยู่ที่ 9.84% ซึ่งไทยส่งออกไปสหรัฐฯมีมูลค่า 40,610.98 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 อยู่ที่ 12.48% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่
* เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
* เครื่องโทรสาร โทรศัพท์อุปกรณ์และส่วนประกอบ
* ผลิตภัณฑ์ยาง
* อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด
สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ น้ำมันดิบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ก๊าซธรรมชาติ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องบิน
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2567