บีโอไอมั่นใจ เทรดวอร์รอบใหม่ บีบเทคคัมปะนีจีน-สหรัฐแห่ลงทุนไทยเพิ่ม
บีโอไอจับตา "ทรัมป์" ดึงลงทุนกลับประเทศยังไม่ชัด เบื้องต้นยังมองบวก คาดสหรัฐขึ้นภาษี บีบจีนย้ายฐานมาไทยเพิ่ม ขณะสหรัฐยังต้องพึ่งพาซัพพลายเชนวัตถุดิบ และชิ้นส่วนจากอาเซียน มั่นใจทั้งสหรัฐและจีนยังเข้ามาลงทุนไทยเพิ่ม อุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยี ดาต้าเซ็นเตอร์ดาวเด่น
จากหลายฝ่ายมองว่า การกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีนโยบาย Make America Great Again จะส่งผลให้ทุนสหรัฐ เช่นในกลุ่ม Data Center, Cloud และอื่น ๆ ที่ขอรับการส่งเสริม / ประกาศแผนลงทุนในไทยแล้ว อาจจะเปลี่ยนใจกลับไปลงทุนในสหรัฐ จากทรัมป์จะให้สิทธิประโยชน์จูงใจ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนของสหรัฐในไทย เรื่องนี้ทางบีโอไอมองอย่างไรนั้น
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เรื่องนี้ยังมีความไม่ชัดเจน ต้องดูรายละเอียดของมาตรการจริงหลังจากทรัมป์รับตำแหน่ง แต่ในภาพรวม แม้ว่านโยบายทรัมป์ จะต้องการให้เกิดการลงทุนในประเทศสหรัฐอเมริกามากขึ้น แต่สหรัฐ เองยังต้องพึ่งพาซัพพลายเชนจากอาเซียนและประเทศพันธมิตรอื่น ๆ ในเรื่องวัตถุดิบ ส่วนประกอบและชิ้นส่วนต่าง ๆ
นอกจากนี้ การตัดสินใจของนักลงทุน มีหลายปัจจัยเป็นองค์ประกอบ ไม่ใช่เพียงแค่สิทธิประโยชน์เท่านั้น โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญ คือ ตลาดและต้นทุนการดำเนินธุรกิจ โดยอาเซียนยังเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตสูง ตลาดมีขนาดใหญ่ และมีต้นทุนการดำเนินธุรกิจในระดับที่แข่งขันได้ โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในแหล่งรองรับการลงทุนที่โดดเด่น เพราะมีความพร้อมหลายด้าน
ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้ง Physical และ Digital Infrastructure ระบบโลจิสติกส์ ความเสถียรของไฟฟ้า ศักยภาพด้านพลังงานสะอาด บุคลากรที่มีคุณภาพ ซัพพลายเชนที่เข้มแข็งและครบวงจร โดยเฉพาะสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมทั้งปัจจัยด้าน Soft Side เช่น สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของคนต่างชาติ มีโรงเรียนนานาชาติและโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานโลก อีกทั้งประเทศไทยมีความเป็นกลาง ไม่ใช่คู่ขัดแย้งในเวทีระหว่างประเทศ (Conflict-Free Zone) จึงทำให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่สำคัญของนักลงทุน
และมิใช่แค่นักลงทุนจากสหรัฐฯ เท่านั้น นักลงทุนจีนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ทั้งการขึ้นกำแพงภาษีและมาตรการกีดกันการค้า ทำให้มีความจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาแหล่งผลิตนอกประเทศ รวมทั้งหาผู้ร่วมทุน เพื่อลดแรงกดดันและลดความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันการค้ารอบใหม่
จึงเป็นโอกาสของไทย ในการดึงการลงทุนจากทั้งสหรัฐฯ และจีน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง การผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์ ยานยนต์ไฟฟ้า ดาต้าเซ็นเตอร์และบริการคลาวด์มาตรฐานสูง รวมทั้งกิจการที่สนับสนุนความเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ เช่น สำนักงานภูมิภาค (Regional Headquarters) ศูนย์จัดหาชิ้นส่วนและวัตถุดิบระหว่างประเทศ (IPO) และศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศ
“จากนี้ไป เรายังต้องติดตามมาตรการของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด ว่ามาตรการกีดกันการค้ารอบใหม่จะเข้มข้นแค่ไหน จะพิจารณาถึงสัดส่วนการใช้วัตถุดิบ หรือสัญชาติของบริษัทด้วยหรือไม่ ซึ่งก็จะเป็นโอกาสของไทยในการผลักดันให้เกิดการร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทย รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนและวัตถุดิบจากผู้ผลิตในประเทศ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามมาตรการเป็นรายอุตสาหกรรมด้วย เพราะแต่ละอุตสาหกรรมมีความเข้มข้นของมาตรการไม่เหมือนกัน สำคัญที่ไทยต้องพร้อมปรับตัวตามสถานการณ์ให้ได้เร็ว เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย”
สำหรับธุรกิจ Data Center มีลักษณะค่อนข้างพิเศษ เนื่องจากเป็น Digital Infrastructure ที่จำเป็นต้องอยู่ใกล้ลูกค้า เพื่อให้การส่งต่อข้อมูลและการประมวลผลทำได้เร็วที่สุด ดังนั้นเราจะเห็นว่าการลงทุน Data Center จะไม่ได้เน้นการรวมศูนย์ให้เกิด Economy of Scale เหมือนอุตสาหกรรมการผลิตทั่วไป แต่จะเน้นการกระจายศูนย์ Data Center ให้ใกล้ผู้ใช้มากที่สุด กลุ่มนี้จึงอาจจะไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายดึงการลงทุนกลับสหรัฐฯ มากนัก
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2567