ห่วงทรัมป์มาฉุดส่งออกวูบ 1.6 แสนล้าน แนะรับมือข้อหาจีนสวมรอยไทยเข้าสหรัฐ
เปิดผลกระทบทางตรง-ทางอ้อม จากนโยบาย "ทรัมป์ 2" ลากมูลค่าการค้าทั้งจีนและไทยไปถึง 160,472 ล้านบาท ฉุด GDP ปี 2568 ไปถึง 1% จับตาสินค้าจีนทะลักไทยระลอกใหม่ ขณะที่ไทยยังคงได้อานิสงส์ส่งสินค้าออกไปสหรัฐ ทดแทนตลาดจีน เชื่อส่งออกปี 2567 ยังได้ 3.21% ปี 2568 ลุ้นของจริง
ส.อ.ท.เตือนอุตสาหกรรมไทยตั้งรับเทรดวอร์ระลอกใหม่ คาด “ทรัมป์” อาจจ้องไทยหนักขึ้น หวั่นเป็นฐานผลิตให้จีน จี้รัฐต้องงัดมาตรการตอบโต้ปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ ด้าน ม.หอการค้าฯชี้ 7 นโยบายมะกันเฟิรสต์โดนไทยเต็ม ๆ ห่วงส่งออกร่วง 1.6 แสนล้าน แถมเจอสินค้าจีนราคาถูกทะลักซ้ำ กระทบจีดีพีไทยปีหน้าวูบ 1%
นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ คนใหม่ได้ประกาศนโยบายในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะสงครามการค้า (เทรดวอร์) ระลอกใหม่ที่จะเกิดขึ้นระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งจากการประเมินคาดว่า ไทยจะยังคงได้รับผลกระทบจากขึ้นภาษี
โดยเฉพาะสินค้าและอุตสาหกรรมที่เกินดุล และบางส่วนจะโดนผลพวงจากการส่งสินค้าไปยังสหรัฐ ที่ถูกเข้าใจว่าเป็นบริษัทสัญชาติจีน ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องประสานกับทางกระทรวงพาณิชย์ เตรียมข้อมูลในการเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกทั้งในเรื่องการจดทะเบียนการค้า ผู้ถือหุ้น ข้อมูลทางบัญชีที่เมื่อมีรายได้หรือกำไร ที่แสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีการส่งเงินออกไปที่แหล่งอื่นนอกประเทศ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะเป็นการสำแดงตัวเองเพื่อให้บริษัทไทยพ้นข้อกล่าวหา และหากถูกสกัดด้วยการเก็บภาษีเพิ่ม
ไทยระวังข้อหาจีนสวมรอย :
“ก่อนหน้านี้แผงโซลาร์เซลล์ไทยถูกเก็บภาษีถึง 300% และบางรายการถูกมองว่าเป็นบริษัทจากจีนเข้าตั้งฐานผลิตในไทย แต่ท้ายที่สุดผู้ประกอบการก็สู้และชนะ ซึ่งก็มีแบบนี้หลายราย เช่นเดียวกับรอบนี้เราน่าจะโดนสหรัฐจ้องมากขึ้น เพราะเขากังวลว่าจะเป็นบริษัทจีนแฝงมา เพราะไทยจะได้อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนของบริษัทจีน การปกป้องตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเราต้องค้าขายกับทั้งจีนและสหรัฐ”
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พบว่าในช่วง 9 เดือนปีนี้ (มกราคม-กันยายน 2567) การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐนั้นอยู่ที่ 1.99 ล้านล้านบาท เทียบกับช่วงปีที่แล้วอยู่ที่ 1.73 ล้านล้านบาท เป็นการส่งออกไปสหรัฐ 1.44 ล้านล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 1.23 ล้านล้านบาท และไทยนำเข้าจากสหรัฐอยู่ที่ 5.44 แสนล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 5.03 แสนล้านบาท
แนะขึ้นภาษีสกัดสินค้าถูกทะลัก :
ในขณะเดียวกัน ส.อ.ท.ยังต้องการให้ภาครัฐควบคุมการนำเข้าของสินค้าจากต่างประเทศเช่นกัน ด้วยการเพิ่มมาตรการทางภาษี หรือเครื่องมือที่จะลดนำเข้าของสินค้าราคาถูกให้เข้มข้นขึ้น เช่น มาตรการตอบโต้ไม่ว่าจะเป็น AC และ AD ซึ่งขณะนี้ได้ทำแล้ว เหลือมาตรการเซอร์ชาร์จหรือเซฟการ์ด ซึ่งเป็นมาตรการที่ค่อนข้างรุนแรง แต่เป็นสิ่งที่รัฐควรพิจารณานำออกมาใช้ เพื่อปกป้องการถูกทุ่มตลาดจากสินค้าต่างประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมเอง มีนโยบายที่ต้องเซฟอุตสาหกรรมอยู่แล้ว ซึ่งสิ่งที่ดำเนินการอยู่ระหว่างนี้ เช่น การกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) การออกกฎระเบียบและภาษีระหว่างร้านค้าที่มีหน้าร้านในไทยสำหรับผู้ประกอบการออนไลน์ที่อยู่ในไทยและผู้ประกอบการออนไลน์ต่างประเทศ การตรวจสอบมาตรฐานสินค้ากระบวนการผลิตสินค้า และวัตถุอันตราย และการนำเข้าที่ต้องควบคุมเป็นการทั่วไปและในเขต Free Zone การผลักดันมาตรการ Made in Thailand
ม.หอการค้าฯ ชี้ 7 ข้อกระทบไทย :
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ประเมินว่าจากนโยบายของทรัมป์ “อเมริกันต้องมาก่อน” ประกอบด้วย 1.การกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการลดภาษีและกฎระเบียบ ใช้นโยบายการค้าเชิงรุกเพื่อสร้างงานและขยายเศรษฐกิจ 2.นโยบายการค้าระหว่างประเทศ เน้นนโยบายกีดกันทางการค้า ด้วยการเก็บภาษีเพิ่ม 10% จากประเทศที่เกินดุล และจากจีน 60%
3.นโยบายปกป้องอุตสาหกรรมภายใน ผ่านภาษีนำเข้า ลดกฎระเบียบ ลดการพึ่งพาจีนในอุตสาหกรรมสำคัญ 4.นโยบายพลังงานและสิ่งแวดล้อม ที่สนับสนุนนโยบายพลังงานทุกรูปแบบ ต่อต้านข้อตกลงปารีสและมองว่าการลงทุนด้านสภาพภูมิอากาศเป็นภาระ 5.นโยบายแรงงานและสวัสดิการสังคม เน้นการสร้างงานผ่านการลดภาษีและกฎระเบียบ จำกัดการเข้าเมืองเพื่อปกป้องตำแหน่งงานให้คนอเมริกัน 7.นโยบายการเงิน มุ่งลดความเป็นอิสระของธนาคารกลาง และต้องการให้ประธานาธิบดีมีอำนาจกำหนดอัตราดอกเบี้ย
ในส่วนของไทยมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐ อันดับที่ 9 โดยสินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐ สูงที่สุดคือ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง
ส่งออกมะกันร่วงแถมจีนถล่มซ้ำ :
ดังนั้น หากในปี 2568 ทรัมป์ดำเนินตามนโยบายหาเสียง ผลกระทบทางตรงที่จะเกิดกับไทย คือ
1.ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง เนื่องจากนโยบายการค้าแบบปกป้องจากการเก็บภาษีนำเข้า 2.การส่งออกของไทยไปยังสหรัฐ มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะหากมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าอีก 10% มูลค่าการค้าของไทยจะลดลง 3,106 ล้านดอลลาร์ สินค้าที่ได้รับผลกระทบ คือ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม ยานพาหนะ โลหะสามัญและผลิตภัณฑ์จากโลหะ 3.จะเห็นการลงทุนลดลงจากสหรัฐ หรืออาจมีการถอนการลงทุนออกไปบ้าง 4.จีดีพีของไทยมีแนวโน้มลดลง
ส่วนผลกระทบทางอ้อม เมื่อจีนไม่สามารถส่งออกไปสหรัฐ จะกระทบต่อชิ้นส่วนของไทยที่ส่งออกไปจีน เช่น ชิปเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในสินค้าต่าง ๆ มูลค่าการค้ากับจีนจะหายไป 49,105 ล้านบาท แน่นอนว่าเมื่อจีนได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐอีก 60% มูลค่าการส่งออกจึงสูญหายไปถึง 350,660 ล้านดอลลาร์ สิ่งที่น่ากังวลคือ สินค้ากลุ่มที่จีนส่งออกไม่ได้จะทะลักเข้ามาที่ไทยแทน
อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงเป็นโอกาสตลาดส่งออกของไทยไปยังสหรัฐ เป็นการทดแทนตลาดสินค้าจีน ทั้งเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ของเล่นเกมและอุปกรณ์กีฬา สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เครื่องเรือนและของตกแต่งบ้าน อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์
คาดส่งออกหาย 1.6 แสนล้าน :
หากดูจากผลกระทบแล้วจะเห็นว่า ผลทางตรงการส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐ จะลดลง 108,714 ล้านบาท และทางอ้อมการส่งออกวัตถุดิบของไทยในห่วงโซ่อุปทานจีนและสหรัฐ จะลดลง 49,105 ล้านบาท การส่งออกวัตถุดิบของไทยในห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐและจีน รวมแล้วสูงถึง 160,472 ล้านบาท
มีผลให้ GDP ไทยหายไป 1% ในปี 2568 บวกกับผลพวงของความเสี่ยงในเรื่องของสงครามระหว่างประเทศ รวมถึงปัจจัยจากประเทศคู่ค้าที่เศรษฐกิจยังชะลอตัว จึงคาดว่าการส่งออกของไทยปี 2567 ประเมินว่าจะอยู่ที่ 3.21% ใ
นขณะที่ปี 2568 หาก GDP โลกขยายตัว 2.7-3.2% ไทยจะส่งออกอยู่ที่ 2.8% มูลค่า 302,477 ล้านดอลลาร์ ตลาดสำคัญยังคงเป็น ยุโรป อินเดีย อเมริกา สินค้าเด่นคือ เครื่องจักรกล ผลไม้สด แช่แข็ง ยางและผลิตภัณฑ์ยาง แต่หากทรัมป์ขึ้นภาษี 10% ขึ้นภาษีจีน 60% ส่งออกไทยจะเหลือ 2.24% และหากขึ้นภาษีกับประเทศที่เกินดุล 15% ขึ้นภาษีจีน 60% ส่งออกไทยจะเหลือเพียง 0.72%
ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่ง คือ การอัดฉีดมาตรการด้านท่องเที่ยวและการบริโภค และต้องหาแต้มต่อของไทยจากการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ และไม่โดนกำแพงภาษีมากเกินไป เพื่อดึงการลงทุนเข้ามาแทนเวียดนาม ที่อาจถูกสหรัฐขึ้นภาษี 15-20% เพราะเกินดุลการค้ามากกว่าไทย
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2567