จับชีพจรเศรษฐกิจโลก พยากรณ์เศรษฐกิจไทย ผ่านสายตา HSBC
หมายเหตุ: นายเฟรดเดอริค นอยแมนน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าฝ่ายวิจัย ประจำภูมิภาคเอเชีย ธนาคารเอชเอสบีซี ให้สัมภาษณ์ในการสัมภาษณ์กลุ่มหัวข้อ "จับตาเศรษฐกิจเอเชียปี 2025 ท่ามกลางจุดเปลี่ยนครั้งใหม่ของโลก"
ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เกิดจากปัจจัยเสี่ยงตั้งแต่วิกฤตสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองโลก ได้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจากการหวนกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ล้วนแต่มีนโยบายที่จะทำให้เกิดจุดเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ ทั้งยังเป็นแรงผลักดันให้เสถียรภาพของเศรษฐกิจระหว่างประเทศเกิดความผันผวน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับเศรษฐกิจภายในสหรัฐ นายเฟรดเดอริค นอยแมนน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าฝ่ายวิจัย ประจำภูมิภาคเอเชีย ธนาคารเอชเอสบีซี วิเคราะห์ว่า การผลักดันนโยบายการลดอัตราภาษี ที่มีแนวโน้มว่าจะส่งผลให้ปัญหาเงินเฟ้อยังคงอยู่ต่อไป ผนวกกับนโยบายผู้อพยพ ที่จะส่งผลกระทบต่อภาคบริการจากจำนวนแรงงานที่ลดลงนั้น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะดำเนินทิศทางไม่ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อรักษาเสถียรภาพเอาไว้ ทำให้สกุลเงินดอลลาร์เกิดการปรับตัวแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ รวมถึงค่าเงินบาท
ต่อกรณีการขึ้นภาษีนำเข้า นายนอยแมนน์ให้ความเห็นว่า ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐล้วนแต่มีโอกาสที่จะเผชิญกับมาตรการกำแพงภาษีทั้งสิ้น โดยไทยเองก็มีความเสี่ยงมาก เพราะปริมาณการพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐสูงถึง 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ทั้งนี้ จีนกลับไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษีมากนัก เพราะส่งออกไปยังสหรัฐต่ำกว่าไทยถึงสองเท่า ที่ตัวเลข 2.5% เท่านั้น
ในการนี้ นายนอยแมนน์ แนะนำว่า การบรรลุข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ควรเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา ด้วยเหตุว่าการขยายตัวของตลาดจะช่วยลดการพึ่งพาและทำให้ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจนั้นถูกกระจายตัวออกไป
เมื่อถามว่าการที่กระทรวงพาณิชย์กำลังเร่งเดินหน้าเจรจา FTA ระหว่างไทยและสหภาพยุโรป ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถมีการค้าเสรีกับประเทศในยุโรปถึง 27 ประเทศ จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงบวกหรือไม่ นายนอยแมนน์ตอบว่าการมี FTA ไม่เพียงแค่ลดอุปสรรคเชิงภาษีในกิจกรรมทางการค้าเท่านั้น แต่ยังสร้างความมั่นใจว่าผู้ประกอบการสามารถดำเนินการผลิตและออกส่งสินค้าภายใต้กฎระเบียบที่มั่นคงด้วย
ทั้งนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนนับเป็นความท้าทายสำคัญของเศรษฐกิจไทย ที่ทำให้เกิดการชะลอตัวของการบริโภคภายในประเทศใน 2-3 ปีข้างหน้า สถานการณ์เช่นนี้ยิ่งทวีความสำคัญของภาคการส่งออก ความหลากหลายในภาคการส่งออกและการดึงดูดการลงทุนเข้ามาในไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ
ต่อคำถามว่า มองว่าอุตสาหกรรมใดในไทยที่มีศักยภาพและควรได้รับการส่งเสริม นายนอยแมนน์กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยมีศักยภาพเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ยุโรปมีตลาดยานยนต์ขนาดใหญ่ และผู้ผลิตในยุโรปจำเป็นต้องจัดการห่วงโซ่อุปทานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไทยจึงสามารถดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวได้ พร้อมระบุว่า ในปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งภาคการเกษตรของไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันในกรณีนี้สูง นอกจากนั้น ไทยยังมีข้อได้เปรียบในท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยการบริการทางสาธารณสุขที่มีราคาจับต้องได้กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างยิ่งในสังคมสูงวัยที่เกิดขึ้น
ในภาพรวม นายนอยแมนน์มีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทยและกล่าวว่า ได้เกิดการไหลเวียนของเม็ดเงินลงทุนจากจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากค่าแรงขั้นต่ำที่ย่อมเยา เห็นได้จากลงทุนจากจีนในไทยที่ก้าวกระโดดเป็นอย่างมาก โดยมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของไทยเมื่อปี 2015 มาจากจีนมีไม่ถึง 10% แต่ในขณะนี้ จีนมีอิทธิพลต่อ FDI ไทยมากกว่า 50%
เมื่อถามว่า วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ สังคมผู้สูงอายุและปัญหาว่างงานภายในจีนจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนของจีนในไทยหรือไม่ นายนอยแมนน์ให้คำตอบว่า รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการบริโภคเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่สังคมสูงวัยจะส่งผลให้จีนจำเป็นต้องนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะสินค้าการเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป ประกอบกับ สัดส่วนประชากรสูงวัยที่เติบโต ทำให้เกิดอุปสงค์ในทางการแพทย์ รวมถึงธุรกิจสปา ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกสินค้าไปยังจีน รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคบริการด้วย อย่างไรก็ดี นายนอยแมนน์เน้นย้ำว่า เม็ดเงินลงทุนจากจีนที่มาในไทยเป็นการลงทุนทั่วไป ไทยต้องดึงดูดให้จีนเข้ามาลงทุนในภาคการส่งออกเพื่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจได้
นอกจากนั้น แม้ว่าจะมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยของการท่องเที่ยวในไทย นายนอยแมนน์ชี้ว่า ภาคการท่องเที่ยวไทยจะมีความคึกคักตลอดทั้งปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายยกเว้นการขอวีซ่าเข้าประเทศ ในขณะเดียวกัน การลงทุนจากภาครัฐในด้านโครงงานสร้างพื้นฐานที่น่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ ผนวกกับอานิสงค์จากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต จะส่งผลดีทางเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนเป็นอย่างน้อย และทำให้จีดีพีไทยในปี 2025 เติบโตราว 3.3% จากตัวเลข 2.7% ส่งผลให้เอชเอสบีซีคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ จะเป็นการเติบโตในระยะสั้นเท่านั้น ในปี 2026 อัตราการเติบโตของจีดีพีอาจจะชะลอตัว โดยเอชเอสบีซีคาดว่าจะลดลงมาที่ 2.7% เนื่องจากแรงหนุนของนโยบายกระตุ้นการบริโภคที่แผ่วตัวลง
นายนอยแมนน์กล่าวเพิ่มในประเด็น พรบ. ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (Financial Hub) ว่า การที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางด้านการเงินได้จะต้องมีกฎเกณฑ์ที่เอื้ออำนวย ตลอดจนทรัพยากรบุคคลที่เพียงพอ แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงจากการที่ไทยเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยที่จะทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องดึดดูงแรงงานจากต่างชาติ โดยมีสิทธิประโยชน์ด้านวีซ่า การคมนาคม ไปจนถึงความสะดวกในเรื่องที่พักอาศัยเป็นแรงกระตุ้นให้มีแรงงานทักษะสูงเข้ามาทำงานในประเทศ
ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าทรัมป์จะตั้งกำแพงภาษีกับไทยหรือไม่ ไทยต้องเร่งเสริมสร้างอำนาจต่อรองและพร้อมตั้งรับในทุกสถานการณ์ เพื่อไม่ให้พายุแห่งความไม่แน่นอนนี้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจไทยได้
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568